มุมมองคนทำทีวีดิจิทัล เอฟเฟกต์ 'เจ๊ติ๋มทีวีพูล'

มุมมองคนทำทีวีดิจิทัล เอฟเฟกต์ 'เจ๊ติ๋มทีวีพูล'

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่วงการทีวี หลังศาลปกครองให้ "เจ๊ติ๋ม" พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย ชนะ แน่นอนว่าต่อจากนี้จะเป็นจุดผลิกที่สำคัญของวงการทีวีเมืองไทย

เมื่อศาลปกครองกลางพิพากษา ให้ไทยทีวีของ “ติ๋ม ทีวีพูล” ชนะคดีฟ้อง “กสทช.” ศาลระบุ บอกเลิกสัญญาทีวีดิจิทัลได้ เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ประกาศเชิญชวนไว้ โดยให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพให้ไทยทีวี ภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นศาลให้ยกทั้งหมด กล่าวคือ ศาลปกครองกลางไม่ได้ให้ กสทช. ชดใช้ค่าเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้อง เพราะภาวะการขาดทุนเกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ

มุมมองคนทำทีวีดิจิทัล เอฟเฟกต์ \'เจ๊ติ๋มทีวีพูล\'

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยพอใจคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เปิดทางเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต ถ้ายื่นอุทธรณ์ จะยังไม่คืนแบงก์การีนตีให้ไทยทีวี ขณะนี้รู้สึกแฮปปี้กับคำพิพากษามาก เพราะเป็นการผ่าทางตันให้ทั้งผู้ประกอบการ และ กสทช. ส่วนประเด็นการเสนอหัวหน้า คสช. ขออำนาจ มาตรา 44 แก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการขณะนี้ เป็นคนละเรื่องกับคำพิพากษา ที่ผ่านมา กสทช.ไม่กล้าตัดสินใจ แต่เมื่อมีคำพิพากษาออกมา จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ประกอบการช่องอื่น

10

ปัจจุบันนี้ ทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตมา 24 ช่อง มีเพียง 22 ช่องที่ดำเนินการอยู่ นอกจากช่องของเจ๊ติ๋ม 2 ช่องที่หยุดดำเนินการไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่ง 22 ช่องที่เหลือ ก็มีแนวโน้มว่า จากนี้ไปอาจจะเหลืออีกไม่ถึง 10 ช่องเท่านั้น และที่ผ่านมาหลายช่องก็มีการเปลี่ยนแปลงนายทุนเปลี่ยนแปลงเจ้าของไปหลายช่องแล้ว เพราะว่าไปไม่รอด

2_11

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า คำตัดสินของศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้เจ๊ติ๋มชนะคดีนั้น ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้เพราะถือเป็นศาลชั้นต้น ยังต้องมีการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องจ่ายค่างวดไปแล้วรวม 70% และเหลือสิทธิ์ในการให้บริการ 8-9 ปี หากจะยื่นขอยุติการออกอากาศ ถอนตัวเช่นเดียวกับเจ๊ติ๋ม อาจจะไม่คุ้มค่า ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังคือ การใช้มาตรา 44 ในการช่วยยืดระยะเวลาการจ่ายค่างวดออกไปอีก 3 ปี

9

นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการและประธานเนชั่น บอร์ดแคสติ้ง คอร์เปอเรชั่น ให้ความเห็นว่า การคืนไลเซนส์ทีวีดิจิทัล ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะเป็นความผิดที่มาจากต้นทาง ตั้งแต่การจัดประมูลเริ่มต้น จาก กสทช. และไม่เห็นด้วยกับการประมูลแยกโทรทัศน์เป็นกลุ่มหมวดหมู่ เนื่องจากเอเจนซี่ซื้อโฆษณาจากเรทติ้ง ไม่ได้พิจารณาตามหมวดหมู่

"ขอถามกลับไปยังบอร์ด กสทช. ว่ารู้หรือไม่ เม็ดเงินโฆษณา มี 70,000 ล้านบาท ขณะที่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ช่อง 3 ช่อง 7 จำนวนเฉลี่ยราว 5 หมื่นล้าน ส่วนที่เหลือกระจัดกระจายไปตามช่องอื่นๆ ทำให้เม็ดเงินไม่ไหลตาม เจ้าอื่นตายหมด และส่งผลให้คนตกงานราว 3,000-4,000 คน กระทบโครงสร้างธุรกิจทั้งหมด แนวทางที่เหมาะสม มองว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณา ใช้กฎหมาย มาตรา 44 ผ่าธุรกิจให้รอด เปิดโอกาสให้รายอื่นเข้ามาที่มีคอนเทนท์และความคิดไอเดียที่ดี ส่วนกรณีที่ กสทช. เตรียมอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด มองว่าคณะทำงานชุดเก่า ส่วนหนึ่งเสียหน้าจากการกระทำ"

3_7

นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า กรณีนี้คาดว่าจะเป็นตัวอย่างและจะมีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องมองเป็นตัวอย่างได้เพราะว่ามีหลายช่องก็แบกรับภาระต้นทุนที่สูงไม่ไหว สิ่งที่ กสทช. น่าจะดำเนินการจากนี้ คือการยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้วยการแก้ไขเงื่อนไขสัมปทานหรือกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น ใบอนุญาตสัมปทาน 15 ปีที่ให้เอกชนไปนั้น ในเรื่องของการจ่ายค่างวดสัมปทานควรจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง หรือการจ่ายค่าโครงข่ายสัญญาณ (MUX) จะลดลงอย่างไรได้บ้าง ที่ผ่านมา คนในวงการทีวีดิจิทัล ต้องถูกปลดหรือออกจากงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะการที่ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวของทีวีดิจิทัลหลายช่อง เพราะต้นทุนการประมูลสูงมาก กสทช. ผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว ที่เปิดประมูลรวดเดียว 24 ช่อง ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ควรจะเปิดเป็นระดับขั้นตอนไป ไม่ใช่เปิดครั้งเดียว การเปลี่ยนถ่ายจากระบบแอนาล็อกต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการแจกคูปองแลกอล่องที่ล่าช้า ไม่มีแผนการเรียงช่องที่ชัดเจน ไม่มีการให้ความรู้และการเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนถ่าย การนำสัญญานดิจิทัลภาคพื้นดินไปออกอากาศผ่านดาวเทียม เป็นต้น

5_3

นายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ให้ความเห็นถึงกรณีนี้ว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง ทำให้ไทยทีวี จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา คำตัดสินของศาลที่ออกมา ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในอนาคตได้เลย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้สามารถคืนสัญญาหรือคืนช่องได้ เพราะเมื่อทำต่อไม่ไหวด้วยปัจจัยหลายด้าน ควรมีทางออกให้กับผู้ประกอบการได้เลือกตัดสินใจ อาจจะเปลี่ยนมือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มาทำแทน หรือจะเป็นหน้าเก่าที่มีช่องในมืออยู่แล้วและมีศักยภาพทำช่องก็สามารถมาทำได้รวมถึงการเปิดโอกาสให้ช่องสามารถปรับส่งสัญญาณภาพจากหมวดหมู่ความคมชัดปกติเป็นความคมชัดสูงได้ หรือการเยียวยาอย่างอื่นที่เห็นผลชัดเจนมากกว่านี้

6_1

นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้ดำเนินทีวีช่องดิจิทัล ไบรท์ ทีวีช่อง 20 ให้ความเห็นว่า ผลการตัดสินของศาลปกครองดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องที่เหลือคิดทบทวนการทำธุรกิจใหม่ เช่นเดียวกับ กสทช.ที่คาดว่าจะต้องมีการทบทวนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย การที่เจ๊ติ๋มชนะคดีถือเป็นเรื่องเดียวกับที่ผู้ประกอบการ 13 ช่องได้เสนอ กสทช.ไปก่อนหน้าแล้ว ต่อจากนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็อาจจะมีการคิดทบทวนการทำธุรกิจใหม่ เพราะการจะคืนช่องเหมือนกับเจ๊ติ๋มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะชนะคดี ต้องใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่ามีมุมมองเชิงบวกกับข่าวข้างต้น เพราะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต โดยมองว่าข่าวข้างต้นเป็นบวกต่อกลุ่ม BEC, WORK, MONO, RS และ GRAMMY ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เป็นทั้งผู้ผลิต Content และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นอกจากนี้ยังมุมมองเชิงบวกต่อ BBL (ธนาคารกรุงเทพ) เพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยทีวี และเป็นธนาคารที่ปล่อยให้กลุ่มทีวีดิจิทัลมากที่สุดคือ BBL รวม 14 ช่อง จำนวน 21,600 ล้านบาท มองว่าการแข่งขันในกลุ่มทีวีดิจิทัลจะลดลง เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต และเคยยื่นข้อเสนอต่อ กสทช.แล้ว โดยมองว่าทีวีดิจิทัลในไทยควรมีประมาณ 15-16 ช่อง จะส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของแต่ละช่องอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้

7

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ก่อตั้ง 77 kaoded ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสื่อนั้นปรับตัว แต่ปรับตัวไม่สุด แม้ทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น มีทางเลือกให้ดูเพิ่มขึ้น แต่คนดูไม่ได้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มช่องโทรทัศน์ที่ทำเว็บของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ช่อง 3 เว็บ mello และช่อง 7 bugaboo เป็นต้น ด้านเฟซบุ๊กกับกูเกิลก็ได้ส่วนของโฆษณาออนไลน์เยอะมาก สื่อไม่โตแต่ยอดใช้ออนไลน์เพิ่มขึ้น

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า แม้คำตัดสินของศาลจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็เป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่า กสทช.มีปัญหา ขณะที่แนวโน้มของทีวีดิจิทัลที่มีปัญหาประสบภาวะขาดทุนก็ยังมีให้เห็น ซึ่งทีวีดิจิทัลบางช่องก็ต้องการขายกิจการให้แก่นายทุนรายใหม่ ถ้าหากยังไม่มีใครมาซื้อก็อาจทนแรงกดดันไม่ไหว มีโอกาสใช้ช่องทางลักษณะเดียวกัน

8

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ ด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ให้ความเห็นว่า แนวทางช่วยเหลือปัญหาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่พอช่วยได้อาจเป็นการแก้ไขกฎระเบียบปลดล็อกต่างๆ ที่กระบวนการแก้ไขปัญหาตามปกติไม่สามารถทำได้ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่มีกฎหมายมาตรา 44 ก็จะสามารถมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้

จากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ทุกภาคส่วนล้วนเห็นตรงกันแล้วว่า หลังจากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะเชื่อได้ว่าการขายหุ้นหรือเปลี่ยนตัวผู้กุมบังเหียนคงมีมาอีกเพียบแน่นอน