กสิกรไทยคาด 'กนง.' คงดอกเบี้ยที่1.50%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดประชุม กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง. รอบที่สองของปี 2561 ในวันที่ 28 มี.ค. 2561 นี้ เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเสี่ยงจากนอกประเทศโดยเฉพาะความเสี่ยงในการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอันอาจกลายเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวอยู่ในช่วงกรอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อยังคงสนับสนุนนโยบายการเงินผ่อนคลายอยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบที่สองของปี 2561 วันที่ 28 มี.ค. 2561 โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
แรงส่งจากการเบิกจ่ายที่อาจจะจำกัดในช่วงนี้ อาจต้องอาศัยนโยบายการเงินผ่อนคลายในการสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การเบิกจ่ายภาครัฐยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแรงส่งในการผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนได้เต็มที่มากนัก สะท้อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังหดตัวในไตรมาส 4/2560 อันเป็นผลจาก พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะในการแก้ไข ดังนั้น แรงส่งจากการลงทุนภาครัฐที่ยังคงน่าจะจำกัดในช่วงนี้ อาจจะต้องอาศัยนโยบายการเงินผ่อนคลายในการช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยท่ามกลางสถานการณ์ที่การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ปรับตัวสู่ระดับที่เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ทำให้สหรัฐฯ มีการนำมาตรการกดกันการค้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เพื่อปกป้องผู้ผลิตของสหรัฐฯ การเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ตลอดจน การพิจารณาปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่อาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 60 พันล้านดอลลาร์ฯ นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามการค้าโลกได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวหากลุกลามออกไปอาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกไทยในปีนี้
แม้ว่าเงินอัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่ระดับเงินเฟ้อยังคงแกว่งตัวแถวกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงแกว่งตัวในระดับต่ำ จากแรงกดดันของราคาอาหารสด ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยกดดันดังกล่าวจะทยอยหมดไปในช่วงหน้า จากสภาวะอากาศร้อนที่จะส่งผลให้ผลผลิตอาหาร แต่แรงกดดันเงินยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางการฟื้นตัวของกำลังซื้อของประชาชนที่คงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเอื้อให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสามารถคงนโยบายการเงินผ่อนคลายจนกว่าสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะมีความชัดเจนกว่านี้
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายการเงินไทย คงจะส่งสัญญาณในการตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกระยะ เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังคงอาศัยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะเป็นการช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติม จากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ที่ปรับแคบลง ทำให้แรงจูงใจในการดึงดูดเงินทุนต่างต่างชาติมีน้อยลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออกอย่างฉลับพลันของไทยจำกัด เนื่องจากประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของอยู่ในระดับสูง จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดี ดังนั้นโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม หากภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจปรับดีขึ้นเข้าใกล้ระดับศักยภาพและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ก็จะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 เป็นอย่างเร็ว