พบคนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน
กรมการแพทย์ เผยคนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 8ล้านคน ในจำนวนนี้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่าแสนคน แนะผู้ป่วยโรคไตดูแลสุขภาพตนเอง
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ปั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดยุทธศาสตร์การคัดกรองโรคไตและชะลอความเสื่อมไต เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมขึ้นในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยคลินิกดังกล่าวจะมีทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักโภชนากร ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม โดยเฉพาะโรคแพ้ภูมิตัวเองซึ่งเป็นสาเหตุของไตอักเสบเรื้อรังที่หากรุนแรงจะทำให้ไตวายหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจลุกลามไปบริเวณกรวยไตทำให้เกิดการอักเสบและมีการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ยังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ อาจส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ ซึ่งโรคไตเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตไม่สามารถขับของเสีย หรือรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายได้ โรคไตมีสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่นโรคถุงน้ำในไต โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของไต โรคที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น จากนิ่ว และที่สำคัญคือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่พบบ่อยที่สุด
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ได้แก่ ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่น มีอาการบวมทั่วตัวซึ่งมักสังเกตได้ง่ายบริเวณเปลือกตา ขา และ เท้า มีอาการปวดหลังบริเวณใต้ชายโครงข้างกระดูกสันหลัง หรือมีความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง งดรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากมีสารพิษต่อไตโดยตรง ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปส่งผลให้ไตทำงานหนัก ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะ และในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ผู้มีประวัติเป็นนิ่ว หรือมีประวัติโรคไตในครอบครัว ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยการตรวจเลือดและปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากโรคไตช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที