ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งศาล รธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.พรรคการเมือง ม. 140-141 ขัดกม.แม่ เป็นภาระให้พรรค-ลิดรอนสิทธิ์สมาชิก ยันคำสั่งคสช.ชอบด้วยกม. แต่เนื้อหาขัดรธน.
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้พิจารณาคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งผลการประชุมมีมติว่าคำสั่งคสช. 53/2560 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคสช.มีอำนาจออกกฎหมาย แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายอื่น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงต้องพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้อง โดยมีมติว่าในมาตรา 140 ที่มีการแก้ไขให้สมาชิกพรรคยืนยันความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป และยืนยันด้วยเอกสารว่าตนเองเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 24 เช่น ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด ไม่มีประวัติอาชญากร ซึ่งประเด็นนี้เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้สมาชิกพรรคการเมือง ขณะเดียวกันพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน เห็นว่าเป็นภาระและลิดรอนสิทธิ์ จึงเห็นว่ามาตรา 140 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 45
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ในหลักคิดเดียวกันมาตรา 141 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องประชุมพรรค เลือกหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคให้เสร็จภายใน 90 วัน หลังยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งที่ 3/2558 โดยให้มีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา มีสมาชิกอย่างน้อย 250 คนเข้าร่วมประชุมด้วย จึงเป็นภาระให้กับพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน เพราะแต่เดิมมาตรา 141 ก่อนมีการแก้ไขได้ให้คำรับรองไว้แล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้ว่าสาขาพรรคจะอยู่ตรงไหน สาขาพรรคที่เคยได้รับคำรับรองไว้ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามาตรา 140 และ 141 ตามคำสั่งคสช.ที่ออกโดยชอบตามกฎหมาย มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25,26 และ 27 ในวันนี้จะส่งมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อเป็นผลผูกพันองค์กรต่อไป
“ยืนยันว่ามติดังกล่าวไม่ใช่การตรวจสอบคำสั่งคสช. เป็นการตรวจสอบตัวบทกฎหมายตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎหมายไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามปกติ โดยที่พิจารณาไปในประเด็นข้อกฎหมายผลจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้”นายรักษเกชากล่าว
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ยังถือมีผลบังคับตามกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบ พรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติตาม ส่วนสาเหตุที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ (30 มี.ค.) ไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้เร่งรัดการทำงาน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้โอกาสทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูล และไม่ได้พิจารณาประเด็นที่อยู่นอกเหนือไปจากคำร้อง