สรรพากรแก้ก.ม.สั่งแบงก์แจ้งธุรกรรมค้าออนไลน์
เผยประชาพิจารณ์แก้กฎหมายสั่งสถาบันการเงินรายงานธุรกรรมลูกค้าที่มียอดฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีมายังสรรพากร หวังรีดภาษีผู้ค้าออนไลน์ หากผู้ไม่ปฏิบัติตามปรับวันละ 1 หมื่นบาท
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..)พ.ศ.. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 1-15 เม.ย.นี้
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีอากร
พร้อมทั้ง กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้บริการจ่ายเงินให้บุคคลอื่นตามคำสั่งหรือตราสารเป็นปกติธุระต้องนำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีการทำธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร โดยคำว่าธุรกรรมพิเศษ หมายถึง ยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี หรือ ยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปี
“ในร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานข้อมูลการรับโอนเงินดังกล่าว จะทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมฯมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่ยังมีการเลี่ยงภาษี เพราะกรมจะมีข้อมูลรายรับของผู้ค้าออนไลน์ที่สถาบันการเงินต้องรายงานตรงมายังสรรพากรทุกปี” แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีก ไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลตามมาตรา 3 ส่งรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากรครั้งแรกภายใน 31 มี.ค.2563