เทคนิคกล่อมเกลาหนูน้อยวัยซน สู่ห้วงนิทราแสนสบาย
เทคนิคกล่อมเกลาหนูน้อยวัยซน สู่ห้วงนิทราแสนสบาย ในงานอบรม "วิธีกล่อมลูกหลับสบายด้วยนิทานกล่อมนอน...สไตล์สวีเดน"
เพราะเด็กวัยอนุบาลเป็นช่วงวัยแห่งความสดใส พร้อมเล่นสนุกตลอดวัน ปัญหาที่คุณครูและคุณพ่อคุณแม่มักพบเจอบ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องเด็กๆ วัยซนไม่ยอมเข้านอน วันนี้เราจึงขอเสนอวิธีการพาเด็กๆ เข้าสู่ห้วงนิทราง่ายๆ นั่นคือการอ่านนิทาน เพราะนิทานจัดเป็นกิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นโลกจินตนาการแล้วยังช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วย
นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับ สถานทูตสวีเดน จัดกิจกรรมสำหรับครูและผู้ปกครองยุคใหม่ เพื่อแนะนำเทคนิควิธีการเล่านิทานสำหรับเด็กเล็ก ในหัวข้อ "วิธีกล่อมลูกหลับสบายด้วยนิทานกล่อมนอน..สไตล์สวีเดน" โดยได้รับเกียรติจาก คาร์ล-โยฮัน ฟอร์สเซน แอร์ลิน นักจิตวิทยาชาวสวีเดน ผู้ให้คำปรึกษาด้านการใช้ชีวิต และผู้เขียนเจ้าของผลงาน ชุดนิทานกล่อมนอน ประกอบด้วย กระต่ายน้อยอยากหลับแล้ว ที่สร้างปรากฏการณ์ยอดขายสูงสุดเกินล้านเล่มทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ได้รับการแปลถึง 43 ภาษาใน 44 ประเทศ ช้างน้อยอยากหลับแล้ว, และผลงานล่าสุด "แทรกเตอร์น้อยอยากหลับแล้ว" บินตรงมาเผยเทคนิคกล่อมเกลาเด็กๆ ให้หลับง่ายหลับสบาย
คาร์ล-โยฮัน ฟอร์สเซน แอร์ลิน กล่าวถึงผลงานเขียนชุดนิทานกล่อมนอนนี้ว่า " ผมต้องการให้เด็กมีสมาธิกับการผ่อนคลายและนอนหลับ โดยหนังสือทั้งสามเล่ม ทั้งกระต่ายน้อยอยากหลับแล้ว ช้างน้อยอยากหลับแล้ว และ แทรกเตอร์น้อยอยากหลับแล้ว ล้วนเขียนขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กนอนหลับได้ไวขึ้น หวังว่าทุกคนจะสนุกไปกับหนังสือ พร้อมกับการทดลองและค้นหาว่าวิธีการไหนเหมาะสมกับเด็กๆ ของตนเองที่สุด โดยสามารถเติมอะไรเข้าไปเองได้ อยากให้ทุกท่านจะได้ลองอ่านดู ผมหวังว่าผู้อ่านจะสามารถใช้ประโยชน์จากหนังสือที่บ้านและที่โรงเรียนได้มากที่สุดครับ"
กิจกรรม "วิธีกล่อมลูกหลับสบายด้วยนิทานกล่อมนอน...สไตล์สวีเดน" คาร์ล-โยฮัน ฟอร์สเซน แอร์ลิน ได้เปิดเวทีแชร์ประสบการณ์ปัญหาเมื่อถึงเวลาที่ให้เด็กนอนแล้วเด็กไม่ยอมนอน พร้อมแนะนำเทคนิควิธีการเล่านิทานกล่อมนอนอย่างไรให้เด็กหลับสบาย โดยได้รับเกียรติจากคุณครูปัทมา พังเครือ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ มาสาธิตวิธีการเล่านิทานกล่อมนอนให้ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ด้วยน้ำเสียงชวนฟัง หลังจากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้โดยลองเล่านิทานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจโลกของเด็ก และฝึกอ่านนิทานตามเทคนิคในหนังสือ พร้อมเผยเคล็ดลับการใช้นิทานในการปรับพฤติกรรมและส่งเสริมการอ่านของเด็กๆ อย่างมีความสุข อาทิเช่น เมื่ออ่านเจอ ตัวหนา ให้อ่านเน้นคำ และเมื่ออ่านเจอ ตัวเอน ให้อ่านช้าๆ และใช้น้ำเสียงเบาๆ นุ่มนวล เป็นวิธีการสื่อสารอารมณ์ของเรื่องราวในนิทาน ปรับอารมณ์เด็กๆ ให้ผ่อนคลาย ,ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมกับเนื้อเรื่อง โดยสมมุติให้เด็กๆ เป็นเพื่อนกับตัวละครเอก และระหว่างที่อ่านนิทานให้เรียกชื่อเด็กไปด้วย เพื่อให้เขาเกิดอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องของตัวเอง ,ชวนหนูน้อยออกเสียง "หาว" ยาวๆ ไปด้วยกัน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มราวกับหลุดเข้าไปในโลกของตัวละครในนิทานนั่นเอง
สุจิรา สุดหอม คุณครูปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ช.พัน ๑ รอ. ที่เห็นความสำคัญของเทคนิคการใช้นิทานกล่อมนอน ได้แชร์ประสบการณ์เข้าร่วมอบรมว่า "กิจกรรมในวันนี้ทำให้เราได้ทราบวิธีการกล่อมเด็กๆ ที่ไม่ยอมหลับ ให้เขาได้ง่วงอย่างง่ายดาย โดยเราอาจจะใช้วิธีเปรียบเด็กเป็นตัวละครในหนังสือ เช่น เราอาจเปรียบเขาเป็นแทรกเตอร์ ในเรื่องแทรกเตอร์น้อยอยากหลับแล้ว เพื่อสมมติบทบาทให้เขารู้ว่ากิจกรรมตรงนี้เขาจะต้องมีบทบาทเป็นตัวเอก ต้องหลับตามเพื่อนๆ ได้แล้วนะ ทำให้เขาได้คิดต่อยอดว่าทำไมเขาถึงต้องมาเป็นแทรกเตอร์ ในขณะเพื่อนๆ คนอื่นหลับกันหมด เป็นการปลูกจิตสำนึกของเด็กว่า ต่อไปเราจะต้องหลับแบบเพื่อนๆ เพราะไม่อยากมาเป็นแบบตัวละครในนิทานนั่นเองค่ะ"
ด้านผู้เขียน คาร์ล-โยฮัน ฟอร์สเซน แอร์ลิน ได้เผยเคล็ดลับสำคัญที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกว่า "เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรลองอ่านนิทานเองจนจบก่อนสักครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเนื้อเรื่อง ลองทำตามคำแนะนำที่เขียนไว้ในหนังสือ ลองดูว่าวิธีใดที่ใช้ได้ผลดีที่สุดกับลูกของคุณ อย่าลืม 4 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ อย่าท้อถอย เมื่อคุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังในครั้งแรกแต่กลับพบว่าลูกไม่ยอมหลับ ให้ลองอ่านซ้ำอีกครั้ง ให้โอกาสหนังสืออย่างจริงจังแม้ว่าคุณอาจจะต้องอ่านซ้ำถึงสองสามรอบ สร้างความเคยชิน คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือหลาย ๆ รอบติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างความเคยชินให้ลูก วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยพอที่จะปล่อยตัวตามสบายไปกับเรื่องราวและพอที่เขาจะอยากหลับ เตรียมตัวเข้านอน ก่อนจะเริ่มอ่านนิทาน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ใช้พลังอย่างเต็มที่เสียก่อน ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมความพร้อมลูกด้วยการสื่อสารเป็นคำพูดเฉพาะเจาะจงบางอย่าง เช่น "หนูง่วงมากเลยใช่ไหมลูก" "ตาลูกเกือบจะปิดอยู่แล้ว ใกล้ถึงเวลานอนแล้ว" "คืนนี้เราจะอ่านเรื่องราวมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้ลูกหลับ มันเยี่ยมขนาดที่ว่าลูกอาจจะหลับไปก่อนจะฟังเรื่องจบก็ได้" และนี่คือตัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะนำมาใช้บอกลูก ๆ ได้ สุดท้าย จดจ่อกับการผ่อนคลาย ลองใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อดูว่าวิธีไหนให้ผลดีที่สุดทั้งแก่คุณและลูก เด็กบางคนอาจต้องดูรูปไปพร้อมกับฟังนิทาน ถ้าลูกของคุณเอนลงนอนและฟังนิทานได้โดยไม่จำเป็นต้องดูรูปภาพในหนังสือจะทำให้เขาจดจ่อกับสิ่งที่ได้ฟังและผ่อนคลายง่ายขึ้น"
พบกับการส่งลูกน้อยสู่ห้วงนิทราแสนสบายไปกับหนังสือชุดนิทานกล่อมนอน 3 เรื่อง กระต่ายน้อยอยากหลับแล้ว ช้างน้อยอยากหลับแล้ว และล่าสุด แทรกเตอร์น้อยอยากหลับแล้ว จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ในราคาเล่มละ 135 บาท วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือแว่นแก้วและร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ สั่งซื้อได้ที่ Nanmeebooks Call Center 02-662-3000 กด 1 www.nanmeebooks.com และwww.facebook.com/nanmeebooksfan