คาดสรุปผล 'โกงทุนเสมา' 7 พ.ค. นี้

คาดสรุปผล 'โกงทุนเสมา' 7 พ.ค. นี้

“อรรถพล” เชิญผู้เกี่ยวข้องกองทุนเสมาฯ 19 ราย ในกลุ่มเซ็นเบิกถอน ลงบัญชี ตรวจสอบภายในให้ข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่อดีตรองปลัด-ปลัดศธ.ส่งข้อมูลแจงเกือบครบแล้ว คาดสรุปผลข้อเท็จจริงรายงานให้ “ธีระเกียรติ” ได้วันที่ 7 พ.ค.นี้

วานนี้ (25 เม.ย.) นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวถึงความคืบหน้าในการสืบสวนข้อเท็จจริง ว่า ขณะนี้ได้เชิญผู้กลุ่มเกี่ยวข้องในการทำงานกองทุนเสมาฯ ได้แก่ กลุ่มที่รับผิดชอบเซ็นใบเบิกถอน กลุ่มลงบัญชี และกุล่มตรวจสอบภายใน ของกองทุนฯ จำนวน 19 ราย มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กลุ่มตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีทุกปี แต่เท่าที่ฟังกลุ่มตรวจสอบภายใน เพิ่งมาเริ่มตรวจบัญชีกองทุนฯ เมื่อปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า ก่อนหน้านั้นมีข้อจำกัด ส่วนกลุ่มคนที่เซ็นใบเบิกถอนทยอยมาให้การ

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการสืบสวนฯต้องการดูว่า เจ้าหน้าที่ใช้ความรอบคอบในการดำเนินการมากน้อยแค่ไหน เท่าที่ฟังมาส่วนหนึ่งยอมรับว่า ไม่ได้เห็นใบนำส่งธนาคาร เห็นเฉพาะหลักฐานการอนุมัติเงิน ซึ่งต้องรอฟังรายละเอียดจากคนอื่นด้วย ส่วนของบัญชี คณะกรรมการสืบสวนฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงไม่มีการเรียกใบเสร็จรับเงิน ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2520 และพ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการ ถ้ารับเงิน ต้องมีการออกใบเสร็จ ซึ่งหมายความว่า ใบเสร็จนั้นจะต้องกลับมาที่บัญชี เพื่อประกอบงบการเงิน เป็นหลักฐานทางบัญชี ซึ่งถ้าเราได้ใบเสร็จมาทุกครั้งการทุจริต ก็ไม่มีทางยืดเยื้อมาเป็น 10 ปี ทั้งนี้สำหรับ 19 รายที่เชิญมาใหม่คาดว่าจะสอบถามข้อมูลได้เสร็จภายใน 2-3 วันนี้

“จากนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ จะทำงานต่อเนื่องไม่มีวันหยุด คาดว่าวันที่ 7 พ.ค. จะสามารถนำเสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ผ่าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เพื่อพิจารณา ส่วนจะชี้มูลว่าใคร ผิดประเด็นไหน ซึ่งมีทั้งกรณีทุจริต ประมาทเลินเล่อ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต้องเสนอให้ผู้ใหญ่วินิจฉัย และตัดสินใจว่า รายไหนจะวินิจฉัยอย่างไร ”นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนการชี้แจงข้อมูลของอดีตปลัดศธ. และรองปลัดศธ. ขณะนี้ส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการสืบสวนฯ เกือบครบแล้ว ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของทั้งคณะกรรมการสืบสวนฯ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทยในเรื่องข้อมูลเท่าที่ควร เพราะขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนฯ และป.ป.ท.ต้องหาข้อมูลด้วยตนเองซึ่งมีปัญหามาก