อย.ย้ำชัด 'เบลล่า' ผิดโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต
อย.ย้ำชัด “เบลล่า”ผิดโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต โทษแค่ปรับ 5 พันบาท ส่วนพ่วงโฆษณาเท็จหรือไม่โยนตำรวจจัดการ โทษถึงจำคุก ลุยเช็คสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณี ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อบีเคิร์ฟ (Be curve) ของ เบลล่า-ราณี แคมเปน นักแสดงสาวชื่อดัง ร่วมเป็นเจ้าของ พบว่ามีการใช้ข้อความในการโฆษณาว่า "ชง ผอม" ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา แต่เจ้าตัวระบุว่า เป็นการว่าจ้างบริษัทโฆษณาทำ และได้มีการตักเตือนไปแล้วนั้นว่า อย.ได้ส่งหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ไปแล้ว อยู่ที่ขั้นตอนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรวบรวมข้อมูล และเชิญคุณเบลล่ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนจะมีความผิดการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ต้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนว่า ผลเป็นอย่างไร ทั้งนี้ อย. ได้รอบรวมรายละเอียดส่งให้ตำรวจแล้ววว่า ในส่วนการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นมีความผิดชัดเจน แต่การโฆษณาเป็นเท็จโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ ต้องไปดูและทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปสอบสวนเพิ่มเติมร่วมกับแง่วิชาการด้วย
“กฎหมายปัจจุบันมีการกำหนดอยู่แล้วว่า ผู้ใดโฆษณาเกินจริงก็จะมีความผิด แต่จะผิดอย่างไรก็ต้องอยู่ที่การสอบสวนหาข้อมูลหลักฐานว่า เขาเกี่ยวข้องอย่างไร หรือไม่เกี่ยวข้องอย่างไร รวมทั้งหลักฐานทางวิชาการประกอบ ส่วนกรณีที่ดารามักจ้างบริษัทมาโฆษณาให้และเกิดเป็นปัญหาขึ้น เรื่องนี้ก็ต้องไปดูในกฎหมาย ซึ่งระบุว่า ผู้ใดกระทำการโฆษณาเกินจริง ก็ต้องไปพิจารณาและดูตามหลักฐานว่า ไปถึงผู้เกี่ยวข้องคนใดอย่างไร”ภก.สมชายกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท ส่วนความผิดฐานโฆษณาอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.สมชาย กล่าวอีกว่า มาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จะดำเนินการต่อไปในการควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ การตรวจสอบสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง โดยในรายเก่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป เบื้องต้นอย.จะเข้าไปตรวจสอบโรงงานหรือสถานที่ผลิตที่มีการจดแจ้งเครื่องสำอางจำนวนมากก่อน ซึ่งในพื้นที่กทม.พบว่า มีโรงงาน 6 แห่งมีรายการจดแจ้งจำนวนมากกว่า 1,000 รายการขึ้นไป แต่กลุ่มนี้ไม่น่าห่วง เพราะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ แต่จะมีผู้ผลิตรายเล็กประมาณ 25 แห่งมีรายการจดแจ้งถึง 300 รายการขึ้นไปรวมทั้งผู้ผลิตรายเล็กอีก 100 แห่งที่มีรายการจดแจ้งอีก 100-300 รายการ ที่เหลือเป็นรายเล็กมีประมาณ1-49 รายการมีอยู่ประมาณ 2,722 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด ในส่วนของภูมิภาคมีประมาณ 7,000 กว่าแห่ง ก็จะประสานไปที่จังหวัดให้ตรวจสอบต่อไป
“อย.คงกำหนดรายการการจดแจ้งของแต่ละโรงงานไม่ให้มีจำนวนมากเกินไม่ได้ แต่อย.มีการตรวจสอบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีคำถามว่า จะควบคุมให้โรงงานแต่ละแห่งจดแจ้งการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทใดประเภทหนึ่งได้หรือไม่นั้น ก็ต้องดูมาตรฐานการผลิตของแต่ละแห่ง เพราะหลายแห่งสามารถผลิตได้ทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะแยกส่วนไลน์การผลิตชัดเจน และมีการขอการรับรองแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง จึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องได้รับโทษ มีการดำเนินคดี เพราะมีเกณฑ์การควบคุมอยู่”ภก.สมชายกล่าว