ยุคแรงงานหายไป AI แทนที่
-“ถ้าอยากรองรับโลกยุค Disruption กฎหมายต้องเปลี่ยนด้วย ถ้าไม่เปลี่ยนก็พัฒนาต่อยาก เพราะกฎหมายไม่มีเรื่องDigital Signature(ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์)หรือเรื่องบิ๊กดาต้า ฯลฯ” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าว
..................
แม้โลกในอนาคต หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence)จะเก่งเพียงใด แต่ก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และถ้าถึงตอนนั้น มนุษย์ต้องปรับตัวยังไง เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด...
ปีเตอร์ ธีล (PeterThiel)นักลงทุนชื่อดัง และอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal กล่าวว่า จังหวะทางธุรกิจจาก 0 ถึง 1 มีเพียงครั้งเดียว
“บิล เกตส์ คนต่อไป จะไม่สร้างระบบปฏิบัติการอีก ส่วนแลรี เพจ และเซอร์เกย์ บริน คนต่อไปจะไม่สร้างโปรแกรมค้นหาอีก และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คนต่อไปจะไม่สร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กอีก ถ้าอย่างนั้นคุณจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ถ้าคิดจะเลียนแบบเขา”
ปรับให้ทันโลก
“เมื่อก่อนรถไฟฟ้า ก็เป็นแค่ความฝัน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว อย่างรถเทสล่า ต้นแบบรถที่ใช้ไฟฟ้าก็เกิดขึ้น โลกยุคนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความฝันกลายเป็นจริง เปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ณ วันนี้ คือการปฎิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 " ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวที “ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทย ในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)
เขายกตัวอย่าง บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น หุ่นยนตร์แขนกลสร้างอุตสาหกรรมแขนกลของมันเองได้วันละสามพันห้าร้อยแขน ทั้งๆ ที่ความต้องการทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งปีใช้ทั้งหมดสามพันห้าร้อยแขน และเท่าที่เห็นในโรงงาน ก็มีแต่แขนกลผลิตงาน หุ่นยนต์ประกอบตัวเอง คนมีหน้าที่แค่เอามือนิ่มๆ ประกอบสายไฟ
“ถ้าอย่างนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ที่สำคัญสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ กฎหมายต้องเปลี่ยน เพราะกฎหมายไทยอายุยืนเกินไป เราใช้พรบ.การเดินอากาศ ปีพ.ศ.2497 ผ่านไป 64 ปี ก็ยังใช้อยู่ ถ้าคนไทยอยากจะทำน็อตตัวหนึ่งในเครื่องบิน กฎหมายจะดูว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ และกฎหมายนี้ก็ยังใช้อยู่”
เนื่องจากการพัฒนากฎหมายสวนทางกับความก้าวไกลทางเทคโนโลยี เมื่อกฎหมายไทยไม่สามารถรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ถ้าอยากปรับตัวรองรับโลกยุค Disruption กฎหมายต้องเปลี่ยนถ้าไม่เปลี่ยน ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า ก็พัฒนาต่อยาก เพราะกฎหมายยังไม่มีเรื่อง Digital Signature(ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์) หรือเรื่องบิ๊กดาต้า ฯลฯ
ส่วนความคืบหน้าในฐานะรัฐมนตรี เขาบอกว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งทีมงานคณะกรรมการร่างกฎหมายธุรกรรมแห่งอนาคต และคิดว่าน่าจะปลดล็อคหลายเรื่อง
“ถ้าคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่เข้าใจก็เกิดปัญหาอีก ซึ่งต้องหาสมดุลที่เหมาะสมที่จะก้าวไปข้างหน้า เราพบว่ามีคนอยากทำสตาร์ทอัพเยอะ มีสตาร์ทอัพต่างชาติจำนวนมากเลือกมาอยู่ไทย เพื่อจะตอบโจทย์บางอย่าง แต่ระบบไทยยังไม่เปิดใจยอมรับ ถ้าพวกเขามาอยู่เมืองไทยเยอะๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะมีการจ้างเด็กไทย”
ไทยแลนด์4.0 ไปต่อยังไง
ถ้าถามเรื่องสตาร์ทอัพ หลายคนต้องนึกถึง เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University และกองทุน 500 TukTuks
“ถ้าเมื่อไหร่เราต้องปฎิบัติบางอย่างผ่านระบบราชการ นั่นคือ ความยากมากๆ ” เรืองโรจน์ กล่าว และฉายภาพสตาร์ทอัพว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพในเมืองไทยไม่ใหญ่และไม่เล็ก แค่สามารถสร้างธุรกิจที่พออยู่ได้ ประมาณ 51 บริษัทลงทุนสตาร์ทอัพไป 700 ตัว แต่ในพอร์ตที่เห็นว่า มีความเป็นไปได้ประมาณ 10 ตัวที่สามารถพัฒนาไปถึงหลักร้อยล้าน
เขาเห็นว่า สตาร์ทอัพในเมืองไทยเติบโตเร็ว แต่ยังขาดความสามารถพิเศษ แม้จะมีคนเขียนโปรแกรมเยอะขึ้น แต่คนที่มีความสามารถใช้ได้จริงทั้งประเทศมีประมาณ 1200 คน
เท่าที่ผ่านมาแม้สตาร์ทอัพไทยจะไม่ก้าวไกลกว่าประเทศอื่น แต่ก็เป็นความหวัง เพียงแต่กฎหมายต้องเปิดทางให้มากกว่านี้
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อีกไม่นานแรงงานจะถูกทดแทนด้วยเออีหรือเครื่องจักร ซึ่งจะมีความสำคัญมาก เมื่อถึงตอนนั้น ภาวะการปรับตัวของทุนกับแรงงานจะมีความไวไม่เท่ากัน วงจรชีวิตของการพัฒนาเทคโนโลยี และวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง เป็นโจทย์ใหม่ของภาคแรงงานไทย
หากถามว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง คนไทยจะต้องเตรียมตัวยังไง
นักเศรษฐศาสตร์ชวนคิดว่า แม้เออีจะเล่นโก๊ะเก่งกว่าคนแล้ว แต่ก็เล่นเพื่อเป้าหมายเดียว ส่วนมนุษย์จะมีความสุขกับเป้าหมายที่หลากหลาย ดังนั้นงานที่ใช้ความสามารถเฉพาะหรืองานที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ภาครัฐต้องปรับใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะนำ ดังนี้
ข้อ1 ควรให้โอกาสแรงงานแต่ละคนมีทางเลือกในการฝึกทักษะต่างๆ ด้วยตัวเอง
ข้อ 2 ในด้านความสามารถเฉพาะเจาะจง รัฐควรเพิ่มนโยบายในพื้นที่ อาทิ การออกแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สนองตอบความต้องการท้องถิ่น
ข้อ 3 ต้องมีสวัสดิการที่เพียงพอ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง
ความเหลื่อมล้ำท่ามกลางเทคโนโลยี
เทคโนโลยี แม้จะช่วยพัฒนาประเทศ และสร้างฝันให้เป็นจริงในโลกยุคใหม่ แต่ก็มาพร้อมความเหลื่อมล้ำในสังคม
ดร.เดชรัต มองว่า การพัฒนาสู่ดิจิตอล ไม่ได้รับประกันว่า เราจะเหลื่อมล้ำน้อยลง แต่คนมีโอกาสมากขึ้น เพราะการตั้งต้นธุรกิจจะทำให้ใช้ทุนน้อยลง แต่ต้องระวังเรื่องการกระจุกตัวของแพลตฟอร์ม และความรู้เรื่องเอไอ
“เรามีแอพฯใช้เดินทางไม่กี่แอพ การกระจุกเหล่านี้มาพร้อมความเหลื่อมล้ำ จึงต้องตั้งโจทย์ว่า การเข้าถึงทุนทางดิจิตอลจะกระจายแพลตฟอร์มยังไง แพลตฟอร์มบางอย่างที่นอกเหนือโลกดิจิตอล อาจเป็นเรื่องกลุ่มคนที่รักเรื่องเดียวกัน สร้างวัฒนธรรมย่อยในเมืองหรือชุมชน ผมคิดว่านำมาใช้พัฒนาประเทศไทยได้เหมือนกัน”
จังหวะของโลกที่ผันแปรไปตามความเร็วของเทคโนโลยี แม้จะมีระบบออนไลน์ที่ครอบคลุมไปทั่วโลก และไร้ขีดจำกัด แต่ใช่ว่า เสรีภาพจะไม่ถูกจำกัด
“ในยุคแรก คนคาดหวังเยอะว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีจะทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วไม่จริง เพราะการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่รัฐควบคุมได้ มีตัวอย่างมากมาย เรื่องการสอดแนม” สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าว
นอกจากนี้แสดงความคิดเห็นว่า ผู้อำนาจของประเทศเห็นว่า ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่ ก็กลัวไว้ก่อน คิดว่าเป็นเรื่องความมั่นคง จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ
“คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก ติดอันดับของโลก แต่ก็มีปัญหาเรื่อง การกำกับดูแล อย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแสดงความเห็นออนไลน์ และทั้งๆ ที่ควรมีกฎหมายปราบปรามอาชญากรคอมพิวเตอร์ ที่เป็นแหล่งโจมตีเฮกเกอร์ เพราะเรื่องนี้ไทยยังมีความปลอดภัยต่ำ ควรเน้นการปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้น
หรือเคยมีแนวคิดเรื่องการเก็บภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าอินสตาแกรม และก่อนหน้านี้รัฐบอกว่า จะยกเว้นภาษีเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ก็เลยมีความไม่ชัดเจน ลักลั่น แต่กลับมีแนวโน้มเรื่องการควบคุมตีกรอบ มากกว่าการเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม”
ไม่ว่าเรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย ความไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี และปัญหาความมั่นคงของชาติ สฤณี มองว่า นอกจากความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยในอนาคต สุดท้ายโลกเราในอนาคตจะไปสู่จุดที่เออีเก่งเท่ามนุษย์ และหลังจากนั้นพวกมันจะประกอบสร้างเพื่อนของมันเองได้หมด และเพิ่มจำนวนมากขึ้น
“ถ้าไปถึงจุดนั้น การที่เอไอจะทดแทนมนุษย์ ก็เป็นความกังวลแน่นอน เพราะมันเก่งขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง หากลูกคนจนๆ ไม่จบปริญญาตรี อยากทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฎหมาย พยายามผลักดันตัวเอง ทำงานอย่างหนัก เพื่อเพิ่มสถานภาพทางสังคม ซึ่งต่อไปจะเป็นเรื่องท่ี่ยาก หากมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนเสมียนที่เป็นบันไดขั้นแรกในการทำงานแทนคนที่ไม่มีการศึกษา ก็น่ากังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำ
ในโลกแบบนี้ต้องมีการกำกับธุรกิจขนาดใหญ่ใหม่ เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอว่า ใครมีข้อมูลเยอะก็จะมีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้นต้องมาดูว่า สิทธิบัตรของบริษัทไอทีเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือเปล่า "สฤณี กล่าว และว่า
"ถ้าโลกไร้พรมแดนจะจัดการกับความเหลื่อมล้ำก็ต้องคิดใหม่”
......................................
(((AI พัฒนาก้าวไกล)))
เมื่อไม่นานนี้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (AI)สามารถเล่นไพ่โปกเกอร์และโกะ รวมถึงทำข้อสอบเพื่อรับใบอนุญาติได้เก่งว่าคนเล่นแล้ว
- โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ Libratus จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้-เมลลอน แข่งเล่นไพ่โป๊กเกอร์ชนะคนได้ โดยบลั๊ฟคู่แข่งเอาชนะมือโปรในการแข่งขันได้แบบขาดลอย (เดือนมกราคม ปี 2017)
-โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ Alpha Go Zero สามารถเล่นโกะ ชนะปัญญาประดิษฐ์ Alpha Goได้อย่างขาดลอย ด้วยคะแนน 100 กระดานต่อ 0 และที่น่าตกใจคือ Alpha Go Zero สามารถพัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 วันในการฝึกเล่นกับตัวเอง (เดือนตุลาคม ปี 2017)
-หุ่นยนต์ Xiaoyi พัฒนาโดยบริษัท iFlytek ของจีน เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่สามารถทำข้อสอบเพื่อรับใบอนุญาตแพทย์ โดยสอบผ่านแบบขาดลอยถึง 96 คะแนนเหนือนักศึกษาแพทย์จำนวนมาก
.......................
ข้อมูลจาก TDRI