ไทยบ่อทิ้ง 'ขยะพิษ' 35 ประเทศ
ตรวจโรงงานนำเข้าขยะย่านลาดกระบัง พบคอนเทนเนอร์ลักลอบนำเข้าพลาสติกเก่าอัดแท่ง 58 ตัน กรมศุลกากรจ่อเอาผิดบริษัทนำเข้าสำแดงเท็จ “วิระชัย” ชี้ไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะจาก 35 ประเทศทั่วโลก
หลังจากหลายหน่วยงานบูรณาการตรวจสอบโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะที่สร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้(1 มิ.ย.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมโรงงาน เดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กทม.เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะที่เป็นพิษโดยวิธีการสำแดงเท็จ หลังจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ได้เข้าตรวจค้นตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง
เบื้องต้นพบตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ ภายในมีขยะถุงพลาสติกอัดเป็นแท่งขนาดใหญ่ น้ำหนักรวม 58 ตัน เป็นของบริษัทลองลัค พลาสติกแอนด์เมทัล จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประกอบธุรกิจนำเข้าขยะพลาสติก เมื่อตรวจสอบเอกสารนำเข้าพบว่าขยะพลาสติกมาจากประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย เยอรมันนี เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเรีย อิหร่าน สเปน เวียดนาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตฯ และประเทศอื่นๆ รวม 35 ประเทศ
พล.ต.อ.วิระชัย ระบุว่าประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดชัดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้าขยะพลาสติกต้องนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าเท่านั้น ไม่อนุญาตนำเข้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.พาณิชย์ แต่ในกรณีนี้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยขยะพลาสติกต้องแยกประเภท ต้องไม่ผ่านการทำความสะอาดอีกและไม่ปะปนกัน
“การตรวจสอบเบื้องต้นมั่นใจว่ากองพลาสติกนี้เป็นขยะสกปรก มีกลิ่นเน่าเหม็น การล้างทำความสะอาดขยะขนาด 54 ตันจะต้องใช้น้ำจำนวนมาก น้ำที่ล้างจะสร้างความเสียหายทางมลภาวะอย่างมาก ทั้งที่บางประเทศ เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย ต่างมีศักยภาพกำจัดขยะเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งออกและยังไม่ยินยอมให้มีการนำเข้าด้วย แต่เหตุใดจึงมีการนำเข้ามาในประเทศไทย
รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบของกรมโรงงานพบว่า พลาสติกที่นำเข้าเป็นขยะพลาสติกไม่สะอาด ผิดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2522 ว่าด้วยการนำเข้าพลาสติกไม่สะอาด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 5 เท่าของสินค้า และพ.ร.บ.ศุลกากร สำแดงเท็จว่าเป็นวัตถุดิบ มีโทษปรับ 5 แสนบาทและจะตรวจสอบภาษีนำเข้าด้วย ทั้งนี้เป็นมาตรการหยุดยั้งการนำขยะพิษทั่วโลกมาทิ้งประเทศไทย ไม่ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขยะโลก
“กระบวนการที่สำแดงว่าจะนำไปที่โรงงานของตัวเองแต่กลับนำไปขายให้กับโรงงานอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบถึงปริมาณนำเข้า และปริมาณการผลิตที่แปรรูปจากขยะพลาสติกนั้นสอดคล้องกันหรือไม่” พล.ต.อ.วิระชัย
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า สารพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจปนเปื้อนในดิน ฝุ่น อากาศ น้ำและอาหาร แล้วยังสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านการหายใจ การกินและสัมผัสทางผิวหนัง เช่น ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบหรือผู้คัดแยกที่เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษโดยตรง รวมถึงกลุ่มวัยเด็ก ทารก หญิงมีครรภ์ที่ไม่ควรอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษด้วย
ส่วนวิธีการป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า ทำได้โดยลดการนำเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วเพิ่มการนํากลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปริมาณขยะอันตราย
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจัดทำระเบียบแนวทางในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับรองผลกระทบจากระเบียบของสหภาพยุโรป ที่มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทาง มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีจากผู้นำเข้าสินค้าและผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แล้วนำเงินไปบริหารจัดการ โดยจะออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียม การตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างทาง แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับแต่จะใช้มาตรการด้านกลไกตลาด และแนวทางสุดท้ายเป็นการควบคุมที่ปลายทางจะสนับสนุนให้เกิดโรงแยกขยะแบบครบวงจร