ไร้ 'ผู้พิพากษา' ในบ้านพักตุลาการ เชียงใหม่ แค่ทดสอบระบบไฟ
ผู้พิพากษาไม่ได้อยู่บ้านพัก-ไฟสว่าง เรื่องผู้รับเหมาตรวจสอบระบบไฟงานก่อสร้างเสร็จตามสัญญาส่งมอบ 18 มิ.ย.นี้ ลุ้นรอฝ่ายบริหารทีมสุวพันธุ์ ตามคำสั่งนายกฯ แจ้งผลแก้ปมบ้านพักตุลาการจบยังไง ?
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61 จากกรณีที่ล่าสุด มีการเผยแพร่ภาพถ่าย รูปบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ ใน จ.เชียงใหม่ ช่วงเวลากลางคืนที่บ้านพักเปิดไฟสว่าง และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะมีบุคคลเข้าไปอยู่ในบ้านพักดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ "เครือข่ายขอพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รื้อถอนการก่อสร้างและฟื้นฟูสภาพป่าในการก่อสร้าง ที่เรียกว่า ป่าแหว่งนั้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานข่าวแจ้งว่า ภาพที่เห็นมีการเปิดไฟสว่าง พื้นที่บ้านพักตุลาการ ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจนั้น เป็นเรื่องของการทดสอบระบบไฟที่ก่อสร้างบ้านพักตามสัญญาจ้างของผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ใช่กรณีที่มีผู้พิพากษาเข้าไปพักอาศัยแต่อย่างใด ซึ่งการก่อสร้างที่พักอาศัยตามสัญญานั้นยังไม่แล้วเสร็จ โดยสัญญาก่อสร้างจะเสร็จสิ้นพร้อมส่งมอบเมื่อครบสัญญาในวันที่ 18 มิ.ย.นี้
ขณะที่การก่อสร้างดังกล่าวซึ่งเป็นเฟสสัญญาสุดท้าย เอกชนก็ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามสัญญาการก่อสร้างที่ทำไว้ ซึ่งจะต้องมีการทดสอบระบบต่างๆ ให้ครบถ้วน เนื่องจากหากดำเนินไม่ครบถ้วนให้แล้วเสร็จก็จะเป็นการกระทำผิดสัญญา ซึ่งการก่อสร้างนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งให้ยุติการดำเนินการใดๆ หรือคำสั่งรื้อถอนใด
โดยที่ผ่านมา หลังจากการประชุมในเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกองบัญชาการควบคุมกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ ได้มีหนังสือเชิญ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 เข้าร่วมประชุมเวทีสาธารณะ ระหว่างฝ่ายทหาร และผู้แทนเครือข่ายภาคีภาคประชาชนเสนอให้รื้อถอนบ้านพักตุลาการ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีผู้แทนศาลยุติธรรมร่วมด้วย เนื่องจากเวลานั้นมีการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( ก.บ.ศ.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้และเสนอความเห็นในส่วนของศาลยุติธรรม ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบ กระทั่งเดือน พ.ค.61 นายกฯ มีคำสั่งให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดคุยหาทางออกและดูแลเรื่องนี้แล้วเคยปรากฏเป็นข่าวว่า นายสุวพันธุ์ ได้ลงพื้นที่พร้อมพูดคุยกับภาคีเครือข่ายฯแล้วระบุจะไม่ให้ใครเข้าอยู่ในบ้านพัก โดยจะส่งพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ ต่อไปนั้น
ปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีหนังสือออกเป็นทางการจากฝ่ายบริหาร ให้ศาลยุติธรรมที่เป็นคู่สัญญาก่อสร้างกับเอกชนยุติการก่อสร้าง หรือให้รื้อถอนในส่วนใดทั้งสิ้น ขณะที่การก่อสร้างที่ผ่านมา ต้องดำเนินการตามสัญญาจนกว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกระทำผิดสัญญาการก่อสร้างที่จะมีปัญหาฟ้องเรียกร้องสิทธิทางแพ่งกันในภายหลัง
อย่างไรก็ดี ในการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเฟสสุดท้ายนั้น หากเสร็จสิ้นตามสัญญาแล้ว ก็ต้องพร้อมส่งมอบสิ่งปลูกสร้างตามขั้นตอน หลังจากนั้นในส่วนที่ฝ่ายบริหารซึ่งพิจารณาเรื่องนี้ตามคำสั่งนายกฯ จะพิจารณาอย่างไรก็จะเป็นอีกลำดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องแจ้งให้ศาลยุติธรรม โดยสำนักงานศาลยุติธรรม ทราบต่อไป โดยที่ผ่านมาหนังสือทางการส่วนที่ออกมาจากหน่วยงานราชการ คงมีเพียงหนังสือจากกรมธนารักษ์ เจ้าของพื้นที่ ที่เคยแจ้งขอจะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการก่อสร้างบ้านพักตุลาการและอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น เป็นโครงการที่ริเริ่มในในช่วงเดิมทีศาลสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม กระทั่งเมื่อปี 2543 ศาล ได้แยกจากกระทรวงยุติธรรม มีสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลดำเนินการต่อ ซึ่งการก่อสร้างได้ใช้ที่ดินราชพัสดุ ขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ 147 ไร่ แต่ใช้ก่อสร้างจริงๆ เพียง 89 ไร่ โดยการก่อสร้างทำสัญญากับเอกชนรวม 3 สัญญา
ประกอบด้วยสัญญาฉบับแรก เป็นการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยและได้เข้าใช้อาคารแล้ว ส่วนสัญญาที่ 2 มูลค่า 321 ล้านบาท และที่ 3 มูลค่า 342 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างอาคารชุดที่พักตุลาการและข้าราชการ ประกอบด้วยบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง และอาคารชุดของตุลาการ 16 หน่วยกับอาคารชุด 36 หน่วยอีก 1 หลัง รวมทั้งอาคารชุดของเจ้าหน้าที่ 6 หน่วย และ 36 หน่วยอีก 1 หลัง ซึ่งทั้งหมดอยู่บริเวณที่ติดกัน โดยกำลังดำเนินการก่อสร้างใกล้เสร็จพร้อมจะส่งมอบเมื่อครบสัญญาในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ซึ่งการดำเนินการในปัจจุบันสัญญาก็ยังเดินต่อไปเพราะมีความผูกพันตามสัญญา