'วิษณุ' เผย ลต.ช้าหรือเร็วขึ้นกับ 5 ปัจจัย ชี้เร็วสุด 24 ก.พ.62
"วิษณุ" เผยเลือกตั้ง ช้าหรือเร็วขึ้นกับ 5 ปัจจัย เตรียมคลายล็อกให้พรรคประชุมใหญ่ได้ไม่ต้องขออนุญาตหลังกม.ลูกประกาศใช้ ชี้เร็วสุด 24 ก.พ.62
เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 25 มิ.ย.61 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือกับพรรคการเมือง ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมตามคำสั่งของ พอล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหลังจากนี้จะต้องมีการประชุมหารือเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ก็สุดแล้วแต่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งได้แจกไว้แล้วว่าในครั้งนั้นจะเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง และเชื่อว่า ในตอนนั้นคงมีอะไรที่ชัดเจนมากชึ้ยกว่าการประชุมครั้งนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และได้นำผลการหารือดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้วก่อนที่จะนำมาเสนอที่ประชุมวันนี้ให้ได้รับทราบเพื่อรับรู้แนวทางว่ามีโรดแมปการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่จะจัดได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ 1. ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว.ทั้งสองฉบับกลับลงมาเมื่อใด 3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จากชุดเก่าเป็นชุดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะมี กกต.ชุดใหม่หรือไม่ กกต.ชุดเก่าก็ยังทำหน้าที่ได้จนถึงที่สุด เพียงแต่จะกระทบเรื่องช้าหรือเร็วเท่านั้น 4. การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใดเพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้ซ้ำอยู่ในเดือนเดียวกัน และ5. ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ เพราะอย่างน้อยถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบันนี้อยู่ถือว่าอยู่ในระดับที่วางใจได้ แต่หากจะเกิดเหตุใดขึ้นในอนาคต แน่นอนจะกระทบต่อกำหนกเวลาการเลือกตั้ง
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่ผู้แทนพรรคการเมืองมีความกังวลและสอบถาม หรือเรียกร้องมาตลอดนั้น ประมวลออกมาได้ 4 ประเด็น คือ 1. เรื่องการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการจัดประชุมใหญ่จะไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ ไม่สามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ จะกระทบต่อการรับสมัครและสรรหาผู้สมัครได้ ดังนั้นหนทางแก้ที่เสนอต่อที่ประชุมในวันนี้คือ หากจำเป็นที่พรรคใดต้องเรียกประชุมให้ขออนุญาตจากคสช.ได้ แต่ทางแก้ดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงเตรียมหนทางแก้ที่จะเสนอต่อที่ประชุม คสช.ให้พิจารณาก่อน นื่องจากมีระยะเวลาอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรก คือ ระยะเวลา 90 วันในการทูลเกล้า พ.ร.ป.และรอรับพระราชทานเพื่อประกาศ ,ช่วงที่สอง คือ เมื่อประกาศใช้กฎหมายโดยลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องทิ้งระยะเวลาไว้อีก 90 วันเพื่อยังไม่ให้มีผลบังคับ ,และช่วงที่สาม ระยะเวลา 150 วัน สำหรับจัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันใดก็ได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับ 90 วันของช่วงที่สองที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น เดิมมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีไว้ทำไม ก็ทำให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่มีห้วง 90 วันนี้ จะเกิดความวุ่นวาย เพราะตามกฎหมายจะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดย กกต. ต้องใช้เวลา 60 วัน และต้องทำไพรมารีโหวตอีก 30 วัน จากนั้นจะล้ำเข้าไปในห้วงที่สาม คือ 150 วัน โดยใช้ 20 วัน ในการรับสมัคร ส.ส. ดังนั้นจะเหลือเวลาอีกเพียง 40 วัน ก็จะครบ 150 วัน ซึ่งคงลำบากในการหาเสียง อย่างไรก็ตามจึงมัความเห็นว่าจะเสนอข้อหารือไปยัง คสช. ว่าในช่วงเวลาที่สองคือ 90 วันนั้น ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตการเลืองตั้งได้ภายใน 60 วัน แล้วตามมาด้วยทำไพรมารีโหวตอีก 60 วัน จากนั้นค่อยเข้าสู่ช่วงที่สาม คือ 150 วัน แล้วค่อยใช้เวลา 20 วัน ในการรับสมัคร จากนั้นจะเหบือเวลาอีก 130 วันซึ่งก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งเร็วหรือช้าเมื่อใดก็ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงที่เยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งกกต.ก็ระบุว่าหากจะจัดการเลือกตั้งก็ขอเป็นวันอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือน เพื่อให้อยู่ในกรอบ 150 วัน จึงมีการตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ,31 มีนาคม ,28 เมษายน ,และ 5 พฤษภาคม ซึ่งตนขอย้ำว่า เป็นการตั้งตุ๊กตาขึ้นมาคร่าวๆเท่านั้น ขอสื่ออย่าพาดหัวว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้กำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 11-12 คือ กกต.ใหม่ไม่ใช่รัฐบาลและคสช.
"เรื่องการประชุมใหญ่เราจะผ่อนคลายให้ใช้เวลา 90 วันนั้นให้เแบ่งเขตและทำไพรมารีโหวต ขณะเดียวกันจะผ่อนคลายให้พรรคการเมืองประชุมใหญ่ได้ ประมาณ กันยายนถึงธันวาคม เพื่อให้รับสมาชิกและเตรียมเรื่องทำไพรมารีได้ และให้ กกต.ติดต่อพรรคการเมืองเพื่อทำการแบ่งเขตได้ด้วย โดยถูกกฎหมาย" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อให้ได้หัวหน้าสาขาพรรคทั้ง 4 สาขาเพื่อให้จัดประชุมใหญ่ได้ ก็จะปลดล็อกโดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาและหัวหน้าพรรคในการทำไพรมารีโหวต ส่วนประเด็นที่ 3 เรื่องการแบ่งเขตของกกต.จะต้องลงพื้นที่ พร้อมสอบถามประชาชน พรรคการเมือง โดยจะนำเสนอ คสช.เพื่อคลายล็อก 90 วันในช่วงที่สองให้ กกต.สามารถดำเนินการแบ่งเขตได้ และตอนนี้สามารถดำเนินการเตรียมการแบ่งเขตไปพรางก่อนได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 เรื่องไพรมารีโหวต ที่ประชุมมีการเสนอให้ทำไพรมารีโหวตในระดับภาค และเสนอให้ยเลิกการทำไพรมารีโหวต และยังมีการเสนอให้เลื่อนการทำไพรมารีโหวตไปเริ่มใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้รับข้อเสนอเเพื่อไปหารือกับ คสช. กกต. กรธ. และกรรมการหรือผู้แทนจากสภาต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมนั้นชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้รับฟังข้อเสนอโดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ไม่มีการโต้ตอบใดๆ เช่น เรื่อง ขอให้ยกเลิกทุนประเดิมพรรค หรือการหาสมาชิก การขอขยายเวลาการหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คนที่เดิมกำหนดให้ภายในเดือนกันยายน
จากนั้นนายวิษณุให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม กรณีการปลดล็อกในระยะ 90 วันช่วงที่ 2 พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่างหรือไม่ ว่า ไม่ใช่ ทำได้แค่บางอย่างที่พรรคการเมืองเรียกร้อง คือ คสช.ปลดล็อกให้ประชุมใหญ่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพื่อให้พรรคสามารถ 1.ร่างข้อบังคับ 2.หาสมาชิก 3.ให้ความเห็นต่อกกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ 4.จัดตั้งกรรมการพรรคเพื่อเตรียมตัวจัดตั้งสาขาและหาผู้สมัคร
เมื่อถามต่อไปว่า จะสามารถปลดล็อกได้ทั้งหมดเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า จะรู้ว่าปลดล็อกโดยสิ้นเชิงเมื่อใดและวันเลือกตั้งคือวันที่เท่าไรเมื่อมีการประชุมหารือในครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการปลดล็อกโดยสิ้นเชิงนั้นคือต้องยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ทั้งนี้ จะให้กกต.ชุดใหม่เป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง
เมื่อถามถึงการทำไพรมารีโหวตโดยไม่มีหัวหน้าสาขาพรรค นายวิษณุกล่าวว่า การทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายปัจจุบันต้องมีกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน หัวหน้าสาขาพรรค 4 คน เราจะเอาหัวหน้าสาขาออก แต่ก็จะเหลือกรรมการน้อยเกินไป จึงจะให้พรรคเลือกสมาชิกพรรคเข้ามาอีก 7 คน รวมแล้วเป็น 11 คน และหากยังมีไพรมารี่โหวต กระบวนการทุกอย่างจะเหมือนเดิม เว้นแต่จะเปลี่ยนแปลงเป็นไพรมารี่โหวตระดับภาคหรือยกเลิกไพรมารี่โหวต ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรรับไปหารือกับผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม.ในวันพุธที่ 27 มิ.ย.นี้ จะไม่มีการประชุมคสช. แต่พล.อ.ประวิตรจะนำไปรายงานต่อที่ประชุมครม. ส่วนจะให้คำตอบว่ามีหรือไม่มีไพรมารี่โหวตได้เมื่อใดนั้น ตนไม่ทราบ
นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ไม่มีใครถามว่าช่วงเวลา 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนั้น หมายรวมถึงการตรวจสอบของกกต.ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ถามในการประชุมว่าจะมีปัจจัยใดที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งตนได้ตอบไปว่า ไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วกว่าวันที่ 24 ก.พ.ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ