เร่ง 2 ภารกิจ พา 13 ทีมหมูป่า กลับบ้านปลอดภัย
ผบ.เหตุถ้ำหลวง รับเร่งทำ 2 ภารกิจ หาโพรงส่งอากาศ-ระบายน้ำ หวังเป็นทางกู้ชีวิต "13ทีมหมู่ป่า" กลับบ้านปลอดภัย ชี้งานยากที่สุดในโลก
ผ่านไปแล้ว 15 วันสำหรับเหตุการณ์ 13ชีวิตทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมี่ ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แม้ล่าสุดจะพบทั้งหมดแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือนำตัว ทั้ง 13 ชีวิตกลับบ้านอย่างปลอดภัย ภายใต้ความยากเพราะมีอุปสรรคสำคัญ คือ ปริมาณออกซิเจนในถ้ำที่ลดต่ำ กับ ระดับน้ำที่รอการระบาย
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แถลงย้ำถึงภารกิจที่ต้องทำต่อไปหลังจากการค้นหาเยาวชนทั้ง 13 คนเจอแล้ว คือ การกู้ภัย และส่งกลับ ซึ่งการกู้ภัยนั้นมีควมยากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการภารกิจค้นหา ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิบัตงานในระยะดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์มาก่อนในโลก ส่วนที่หลายฝ่ายสอบถามว่าการทำงานที่ล่าช้า อาจทำให้เยาวชนทั้ง 13 คนเป็นอันตรายนั้น ตนขอชี้แจงว่าปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยี และความสามารถเฉพาะตัวของนักดำน้ำเข้าปฏิบัติหน้าที่และทำงานอย่างหนัก ดังนั้นผู้ที่ไม่อยู่หน้างานอาจไม่รู้ถึงความยากของภารกิจนี้
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่า สำหรับภารกิจหลังจากนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การกู้ภัยเพื่อนำตัวเยาวชนออกมาจากถ้ำ และ การหาโพรง เพื่อนำอากาศและอาหารลงไปให้กับคนที่ติดในถ้ำ อย่างไรฏ็ตามการหาโพรงรวมถึงการเจาะถ้ำนั้นยังไม่มีจุดใดที่ตรงกับพื้นที่ที่ทีมเยาวชนหมู่ป่าอะคาเดมี่อยู่ เพราะพิกัดไม่ชัดเจน ขณะที่การระบายน้ำภายในถ้ำอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
"สิ่งที่ห่วงมากที่สุด คือ ปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในถ้ำ เพราะหากปริมาณเหลือน้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์อาจทำให้คนที่อยู่ภายในมีอาการมึน เบลอ หรือหมดสติได้ เพราะจะมีปัจจัยอื่นรวมด้วย ทั้งปริมาณคอร์บอนไดออกไซด์ เพราะหากออกซิเจนมีน้อยปอดจะไม่สามารถเปลี่ยนออกซิเจอกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้เกิดพิษในร่างกาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ เพิ่มอากาศภายในถ้ำ และจากการติดตามข้อมูลพบว่าพื้นที่โถง3 มีปริมาณออกซิเจนเหลือน้อยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเจ้าหน้าที่ จึงนำถอนกำลังออกมาบางส่วนและเหลือไว้เฉพาะคนที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานเท่านั้น" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ แถลงด้วยว่าสำหรบแผนกู้ภัยนั้น ได้วางแผน และทดสอบเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งแต่ละแผนจะมีองค์ประกอบและปัจจัยพิจารณาที่สำคัญ อาทิ นำตัวเยาวชนออกทางหน้าถ้ำ แต่ปริมาณน้ำขณะนี้มีจำนวนมาก หากจะรอให้ระดับน้ำลดจนเข้า-ออกปลอดภัยนั้น ต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม ซึ่งตามแนวทางช่วยเหลือแผนที่จะรอนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการตัดสินใจช่วยเหลือ ยอมรับว่าทุกทางมีความเสี่ยง ดังนั้นแผนช่วยเหลืออาจไม่สมบูรณ์ 100เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก
ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวถึงสภาพของ13เยาวชนที่ติดในถ้ำหลวง ด้วยว่า มีสภาพร่างกายที่ดี แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ดังนั้นในอีก 1-2 วันหากสภาพร่างกายของเยาวชนดีขึ้น สภาพอากาศดี และสถานการณ์น้ำดีที่สุด ต้องหารือถึงการปฏิบัติการร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อการนำตัวเยาวชนกลับบ้านอย่างปลอดภัย
"ผมขอความกรุณาสื่อหลายๆท่าน หรือเกรียนคีย์บอร์ดที่อาจจะมีประสบการณ์จากการอ่านตำราอย่างเดียวไม่เคยออกมาเจอสถานการ์จริงหน้างาน เพราะหน้างานคนที่อยู่ตรงนี้ทราบสถานการณ์ดี ไม่เหมือนคนที่เล่นหมากรุกคนที่เล่นดูไม่ออก แต่คนดูคนนอกรู้ว่าคนไหนจะชนะ แต่คนเล่นเล่นทีไรก็แพ้ ดังนั้นเราจึงได้มองหลายๆมุม โดยหารือกับผู้ที่มีความรู้ นักวิชาการ ที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เพื่อให้สิ่งที่ออกมาดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ในสถานการณ์ของพวกเรา และเอาชนะสงครามที่เหลือ คือ การสู้กับน้ำและรักษาน้องๆ ให้ได้" ผู้บัญชาการศูนย์ฯ กล่าว