เร่งสกัด 'มะเร็งลำไส้ใหญ่' ลามคนไทยเพิ่ม 2 เท่า
จับตาสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี
จากการเก็บข้อมูลอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 โดยมีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ 21,188 ราย
จากอัตราการเจ็บป่วยข้างต้น ส่งผลต่อเนื่องถึงยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง มากกว่า 3,000 รายต่อปีอีกด้วย!!
ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็งลำไส้ที่ลุกลามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องยกระดับเป็น ‘นโยบายสาธารณะ’ นำมาสู่การประชุมยกร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การแก้ปัญหา ป้องกัน และควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม”เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อํานวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ มาจาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ 2.น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน 3.ขาดการออกกําลังกาย 4.สูบบุหรี่ 5.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา 6.มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย 7.ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
สถาบันมะเร็งฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการหารือไปที่สาเหตุเฉพาะอันดับต้นๆ ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ซึ่งน่าวิตกกังวลมากที่สุดนั่นคือการรับประทานอาหารประเภท เนื้อแดง (Red meat) หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ (Processed meat) ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยม โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ยิ่งกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นไปอีก และมองข้ามอันตราย เนื่องจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปใส่สารไนเตรทและไนไตรท์หรือดินประสิวเพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดง รวมทั้งในกุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เพื่อให้มีอายุยาวนานขึ้น
ดร.ศุลีพร ย้ำว่า แม้จะมีประโยชน์ในการถนอมอาหาร แต่สารไนเตรทและไนไตรท์ก็มีโทษเช่นเดียวกัน เพราะสารชนิดนี้จะทําปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะ ทําให้เกิดไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และถ้านำไปปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ก็จะมีสาร PAHs ซึ่งก่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นไปอีก
“การบริโภคแม้ปริมาณน้อย แต่หากบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง”
คนไทยช่วงอายุ 18-34.9 ปี นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ และช่วงอายุ 13-17.9 ปี นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป
สถาบันมะเร็งฯ อ้างอิงงานวิจัยของ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เมื่อปี 2558 ที่จัดให้เนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในคน ส่วนเนื้อแปรรูปจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในคน
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลผู้บริโภค โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กําหนดปริมาณใช้เกลือไนเตรทหรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรทให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตตัวอักษรหลังฉลาก คือ INS (International Numbering System) ซึ่งเป็นเลขประจําตัวที่ใช้เป็นสากลของวัตถุเจือปนอาหาร โดย INS 250 คือโซเดียมไนไตรท์ และ INS 251 คือโซเดียมไนเตรท
ส่วนในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป ดร.ศุลีพร ระบุว่า ไม่ได้เป็นอาหารหลักจึงไม่มีรายงานปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมหรือปริมาณการบริโภคที่บ่งชี้โรคมะเร็ง แต่มีรายงานว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้นวันละ 50 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยง 18%
ในที่ประชุมมีหน่วยงานต่างๆ ผลัดเปลี่ยนให้ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาเอกสารสำคัญนำไปสู่การรณรงค์ครั้งใหญ่ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้รณรงค์ให้คนตื่นตัวเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ที่มาจากการบริโภคอาหารมาหลายปี แต่กลับไม่ได้สร้างความตระหนักรู้มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงคือการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ต่างจากบุหรี่หรือสุราที่คนเห็นโทษชัดเจน จึงต้องปรับแผนมาใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพเพื่อระดมเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสื่อมาร่วมมือกันแก้ปัญหา
โดยแนวทางการรณรงค์ ต้องเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ ลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูป ทั้งแบบอุตสาหกรรมและการผลิตแบบชุมชนที่ไม่มีมาตรฐาน รวมถึงเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงให้ความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของมะเร็งต่างๆ เช่น การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันต้องให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อให้คนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อแดงต้องไม่ควรมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศใช้อ้างอิง
ในขณะเดียวกัน จะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปให้ติดฉลากให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลได้ง่ายว่ามีไนเตรทและไนไตรท์มากน้อยอย่างไร เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อโดยยึดหลักเกณฑ์ของอย.เป็นหลัก อาทิ ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมักที่กำหนดให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“แนวทางที่ได้จากการระดมความเห็นทั้งครั้งนี้และครั้งต่อไปจะถูกบรรจุอยู่ในแผนป้องกันและควบคุมมะเร็งแห่งชาติ แต่สิ่งสำคัญคือจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนนับจากนี้” นพ.วีรวุฒิกล่าวทิ้งท้าย