ธปท. รับดูแลค่าเงินบาท สกัดผันผวน

ธปท. รับดูแลค่าเงินบาท สกัดผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับเข้าไปดูแลค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ในช่วงที่เงินไหลออก หลังประเทศเศรษฐกิจหลักกลับทิศนโยบายการเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้จาก ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลง เพราะเราขายเงินตราต่างประเทศออกไป ซึ่งเป็นนโยบายของเรา เพราะเราใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เวลาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้ง 2 ด้านไม่ว่าจะเป็นการอ่อนค่าหรือแข็งค่าและมองว่าจะกระทบกับตลาด กระทบกับภาคธุรกิจเราก็เข้าไปดูแลในบางช่วง

"ตัวเลขการสํารองที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็สะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่าเราเข้า ไปดูแล ในบางช่วง แต่ต้องระวังว่า ในอีกด้านหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของมูลค่า ทุนสำรองอยู่บ้าง เพราะสำรองของเราไม่ได้อยู่ในเงินดอลลาร์อย่างเดียวแต่ถือหลายสกุล เราให้ความสำคัญกับการกระจายตัว รายการเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนหลายสกุล เวลาดูเงินทุนสำรองระหว่างประเทศโดยรวมในรูปของเงินดอลลาร์ ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าไปดูแลอย่างเดียว แต่อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินหลักหลักได้ เช่น เราถือเงินสกุล ยูโรเวลาค่าเงินยูโรเปลี่ยนแปลง มูลค่า ที่เป็นในรูปของดอลลาร์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองจึงมีส่วนที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าด้วย"

ทั้งนี้ในช่วง 1ถึง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแบงค์ชาติได้สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ เพราะเราคาดว่าจะมีสถานการณ์แบบนี้ เวลาที่นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักกับทิศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีประเด็นเรื่องความกังวลมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อาจจะมีเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จึงเป็นการใช้เงินที่เราสะสมไว้เป็นกันชนเพื่อลดแรงปะทะเพื่อไม่ให้เกิดแรงปะทะกับระบบเศรษฐกิจไทย กับภาคธุรกิจไทย

สำหรับเรื่องความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามทางการค้า เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะมาตรการล่าสุดที่ออกมาจากทางอเมริกา อาจจะมีผลกระทบกับหลายประเทศเราปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เราไม่ใช่ประเทศเป้าหมายแต่จีนสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นความเสี่ยงสำคัญไม่ใช่เฉพาะกับเศรษฐกิจไทยแต่รวมถึงเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เป็นเศรษฐกิจเปิดพึ่งพิงการค้าต่างประเทศสูงผลกระทบโดยตรงอาจจะยังไม่เห็นแรงเพราะมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นมาตรการที่เลือกเฉพาะประเภทอุตสาหกรรมและ target เฉพาะบางประเทศผู้ส่งออกซึ่งสัดส่วนสินค้าเหล่านั้นกับการส่งออกของไทยมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย แต่ผลกระทบที่จะประมาทไม่ได้คือผลกระทบที่มากับห่วงโซ่อุปทานเพราะบริษัทต่างๆมีความเชื่อมโยงกันเราอาจจะเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง เป็นสินค้าขั้นปลายในประเทศที่เป็นเป้าหมายของมาตรการต่างๆอาจจะเกิดผลกระทบต่อบางบริษัทและบางสินค้าได้เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อเนื่อง

ดอลลาร์แข็งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันสกุลเงินเอเชีย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) เนื่องจากการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นมากขึ้น ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบห้าวันทำการ ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงมาที่ระดับ 2.85% เมื่อผลตอบแทนระยะสั้น (2ปี) อยู่ที่ระดับ 2.58% ความต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวจึงร่วงลงมาแตะระดับ 0.26% (flattening) ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 ส่งสัญญาณว่าตลาดมองเศรษฐกิจโลกไม่สดใส

ในสัปดาห์นี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติมคือโดนัลด์ ทรัมป์อาจเพิ่มการกีดกันทางการค้ากับประเทศอื่นๆนอกเหนือจากจีน เช่นในฝั่งยุโรป เนื่องจากมีการประชุม NATO และในสัปดาห์หน้าจะมีการพบกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และวลาดิเมียร์ ปูติน จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่สหรัฐจะสร้างความแตกต่างด้วยการกีดกันทางการค้ากับประเทศพันธมิตร แต่กลับไปเริ่มความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่เคยเป็นศัตรู

ฝั่งของตลาดการเงิน ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 1.25% ตามที่คาดไว้ ย้ำชัดว่านักลงทุนจะต้องเจอกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นที่ยังมีอยู่ทั่วโลก ขณะที่ความผันผวนก็ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และภาพรวมเศรษฐกิจดูแย่ลง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนปรับตัวลงแรงถึง 6.9% ในวันเดียวมาที่ 73 เหรียญต่อบาร์เรล ทองแดงปรับตัวลง 4% มาที่ 6,081 เหรียญต่อตัน และราคาทองปรับตัวลงมาที่ 1,242 เหรียญต่อออนซ์

ในวันนี้ต้องติดตามแนวโน้มของภาพรวมค่าเงินเอเชีย เรามองว่าโอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนค่าต่อเมื่อดอลลาร์แข็งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันสกุลเงินเอเชีย แต่ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลงในระยะสั้นน่าจะส่งผลให้เกิดแรงขายบาทไม่มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์