กูเกิลเปิด4พันธกิจหนุน“เศรษฐกิจดิจิทัล”ไทย
“กูเกิล” เดินแผนลงทุนไทย จัดอีเวนท์ใหญ่ “กูเกิล ฟอร์ ไทยแลนด์” เปิด 4 พันธกิจ หนุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ผนึกรัฐบริการฟรีไวไฟ “กูเกิล สเตชั่น" เสิร์ฟเน็ตเร็วสูง พัฒนาคอมมูนิตี้ยูทูป เปิดฟีเจอร์ใหม่บนกูเกิลแผนที่เพิ่มสะดวกผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ 20 ล้านราย หนุนธุรกิจเอสเอ็มอี โกออนไลน์ รุกผนึกเอไอเอส ผุดดาต้าแพ็คเกจพิเศษ “ยูทูป โก”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน “Google for Thailand” ธีม “Leave no Thai behind” โดยกูเกิลว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม สร้างอาชีพ รายได้ รวมไปถึงสนับสนุน 6 ยุทธศาสตร์ชาติ
ปัจจุบัน รัฐบาลมีแผนพัฒนาด้านดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผนดิน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนโฉมประเทศไปสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
แต่ทั้งนี้ นอกจากการใช้ประโยชน์จำต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่ดี ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมายึดครอง เนื่องจากโลกเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญจึงต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้สามารถใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พร้อมกันนี้ ทำให้โครงการต่างๆ มีความต่อเนื่องไปในระยะยาว 20 ปี ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ มั่งคั่ง ประชาชนทุกอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอ ยั่งยืน หวังด้วยว่าไทยจะเป็นประเทศที่เหมาะกับการประกอบธุรกิจ เข้าใจว่าปัญหาจากการทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าต้องแก้ไขไปให้ได้แบบไร้รอยต่อ
ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหารวมถึงปรับแก้กฎหมายที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ ลดภาระปัญหาให้กับธุรกิจไทย ต่างชาติ มุ่งสนับสนุนการค้าขายบนออนไลน์ ที่ผ่านมาโครงการเน็ตประชารัฐที่แม้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว แต่ยังต้องตรวจสอบว่าใช้ได้จริงหรือไม่ สัญญาณแรงพอไหม
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวว่า ความร่วมมืออย่างเป็นทางการล่าสุดระหว่างกูเกิลและรัฐบาลไทยคือบริการฟรีไวไฟภายใต้ชื่อ “กูเกิล สเตชั่น” โดยกูเกิลเอเชียแปซิฟิกและกสท โทรคมนาคม เบื้องต้นที่เริ่มไปแล้วเช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนคนเดินเชียงคาน สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า ส่วนเฟสต่อไปเตรียมขยายผลไปตามท่าอากาศยาน จุดท่องเที่ยว และจุดวัฒนธรรมที่สำคัญต่างๆ
เขากล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนนโยบายในหลากหลายมิติ กระทั้ง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลปรากฏชัด ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การพัฒนาคน สร้างความรู้พื้นฐานทางดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ
นอกจากนี้ มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี ส่งเสริมสมาร์ทซิตี้ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีอีซี การปรับใช้อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ อีกทางหนึ่งดิจิทัลกอฟเวิร์นเมนท์ก็มีการพัฒนาในหลายส่วน
ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีได้ทำงานกับกูเกิลอย่างใกล้ชิดเพื่อใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ผ่าน 2 โครงการหลักคือ การพัฒนาทักษะผู้นำชุมชนทั่วประเทศ, โค้ดดิ้งไทยแลนด์เพื่อสร้างเสริมทักษะเยาวชนไทยในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนหลังจากนี้ที่จะทำร่วมกันจะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มโอกาสการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พัฒนาการศึกษา โลคอลคอนเทนท์ และพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี
นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียต่อจากอินเดียและอินโดนีเซียในการจัดอีเวนท์ใหญ่ “Google for Thailand” ซึ่งครั้งแรกนี้มาในธีม “Leave no Thai behind” เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางดิจิทัลเพื่อคนไทยทุกคน พร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย พร้อมๆ กับการส่งเสิรมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และอนาคตที่น่าตื่นเต้น
ทั้งนี้ ผ่าน 4 พันธกิจหลักประกอบด้วย 1.การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี 2.การส่งเสริมด้านการศึกษา 3.การพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และ 4.การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) รวมไปถึงสตาร์ทอัพ เหตุที่เลือกไทยเนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่กูเกิลสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้
ผลวิจัยโดยกูเกิลและเทมาเส็กระบุว่า โอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนมีอยู่มหาศาล เมื่อถึงปี 2025 จะมีมูลค่าไม่น้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ เฉพาะประเทศไทยกว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์
ภายใต้พันธกิจดังกล่าว โครงการที่ได้เริ่มต้นไปแล้วประกอบด้วย “กูเกิล สเตชั่น(Google Station)” แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตไร้สาย(ไวไฟ) ที่มีความเร็วสูงและคุณภาพที่เชื่อถือได้สำหรับผู้ให้บริการและสถานที่ต่างๆ ในไทย ประเดิมพื้นที่ต่างๆ 10 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ พิจิตร และเลย และจะขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยมุ่งเน้นในสถานที่ที่มีอุปสรรคในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร หรือมีค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ตลาด ทั้งในชุมชนเมืองและพื้นที่ห่างไกล ครั้งแรกนี้พันธมิตรผู้สนับสนุนรายแรกคือยูนิลีเวอร์
เขากล่าวว่า อยู่ระหว่างการสร้างศูนย์บ่มเพาะทักทักษะดิจิทัล ชื่อว่า อาคาเดมี แบงคอก(Academy Bangkok-A Google Space) ภายใต้โครงการทรูดิจิทัลพาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรวมทักษะทางดิจิทัล เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริง มากกว่านั้นจะใช้ศูนย์ดังกล่าวเป็นสถานที่ฝึกอบรมโครงการอื่นๆ ของกูเกิล เช่นทักษะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้คาดว่าจะรองรับผู้ฝึกอบรมได้ถึง 200 คนในแต่ละครั้ง
กูเกิลเผยด้วยว่า มีแผนสนับสนุนเครือข่ายชุมชนยูทูปในไทยให้เติบโตต่อเนื่อง โดยเตรียมนำ “ยูทูป ป็อปอัพ สเปซ(YouTube Pop-Up Space)” มาจัดที่ไทยเป็นแห่งแรกในเอเชียในเดือน พ.ย.2561 วางเป็นคอมมูนิตี้สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด โปรดักชั่น การสนับสนุนทางเทคโนโลยีการถ่ายทำ การอบรมเวิร์คชอป โดยจะให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมมีกิจกรรมพิเศษเพื่อสนับสนับครีเอเตอร์ระดับกลาง เช่น เวิร์คช้อปการสร้างคอนเทนท์ตั้งแต่ก่อนไปถึงหลังการผลิต และอีกหนึ่งกิจกรรมคือ ครีเอเตอร์ ฟอร์ เชนจ์ เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม
ล่าสุด ยังได้ร่วมมือกับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(เอไอเอส) เปิดตัวดาต้าแพ็คเกจพิเศษ “ยูทูป โก(Youtube Go)” เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถชมยูทูปได้แบบไม่จำกัดราคาเริ่มต้น 9 บาทต่อวันสำหรับทุกดีไวซ์ ทุกพื้นที่ทั่วไทย
ผลวิจัยโดยอะคาไมระบุว่า การพัฒนาการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ขณะนี้ 3จี และ4จี ครอบคลุม 90% ของประเทศ เทียบในเอเชียด้วยกันความเร็วการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเฉลี่ยรั้งอันดับ 5 ที่ประมาณ 106 เมกะบิตต่อวินาที
นอกจากนี้ จัดทำฟีเจอร์ใหม่บนกูเกิลแผนที่ สำหรับผู้เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในไทยที่มีอยู่กว่า 20 ล้านคน วางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น โดยใช้เส้นทางลัดและตรอกซอก ซอยเล็กๆ ที่มีเพียงจักรยายยนต์เท่านั้นที่สามารถผ่านได้ สามารถคำนวณเวลาเดินทางได้แม่นยำมากขึ้น
ภายในงานดังกล่าว กูเกิล ประเทศไทย ยังได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถลงทะเบียนและรับการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้งานแพลตฟอร์ม กูเกิลมายบิสิเนส บริการฟรีจากกูเกิลที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีตัวตนบนโลกออนไลน์ทั้งกูเกิลเสิร์ชและกูเกิลแผนที่
หลังจากนี้ กูเกิลยังคงเปิดกว้างที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เป้าหมายคือทำอย่างไรที่จะสามารถให้บริการทางดิจิทัล พร้อมสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตลาดไทย