7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซี เปิดคัดกรองทุกคนฟรี 83 รพ.

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซี เปิดคัดกรองทุกคนฟรี 83 รพ.

คาดไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี-ซี ราว 2.5-3.7 ล้านคน หลุดจากระบบรักษากว่า 1 ล้านคน เสี่ยงเกิดมะเร็งตับ ระบุคัดกรองเจอเร็ว การรักษาได้ผลมากกว่า 95 % เปิดตรวจคัดกรองฟรีในรพ.รัฐ 83 แห่ง ระหว่าง 31 ก.ค.-3ส.ค.61

นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 - 3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 300,000 - 700,000 ราย ที่ผ่านมาสธ. ได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับผ่านมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ


“เชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ที่โรงพยาบาลในสังกัดของสธ.ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.สมบัติ กล่าว


รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)และภาคเหนือ จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยยังมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่อยู่นอกระบบอีกกว่า 1 ล้านคน สาเหตุเพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่แสดงอาการ ก็จะไม่รู้ตัว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกหรือฮูได้กำหนดนโยบายให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้หมดไปในปี 2573 จึงจำเป็นต้องจัดระบบค้นหาด้วยการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราตายสูงสุดของประเทศไทย คือ มะเร็ง ในเพศชายมะเร็งตับพบเป็นอันดับที่ 1 เพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของทั้งหญิงและชาย


“ในอดีตผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับจะมีอัตราการเสียชีวิตในช่วง 6 เดือน-1ปี เฉลี่ยที่ 3 เดือน โดยจะเจอในระยะ3-4 ถึง 50 % แต่ปัจจุบันเริ่มมีการตรวจคัดกรองมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบมากกว่า 2 % จะถือว่าการตรวจคัดกรองมีความคุ้มค่า ทำให้ตรวจเจอผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น40-50 % ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้นทั้งการผ่าตัดตับ เปลี่ยนตับ หรือจี้ตับ อัตราการรอดชีวิตใน 2 ปีมีมากกว่า 80 % และผลการรักษาได้ผลมากกว่า 95 % หมายความว่าหลังเสร็จสิ้นการรักษา 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนจะตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบมากกว่า 95 % และเมื่อติดตามต่อไปจะพบไวรัสกลับคืนมาไม่เกิน 10 %โดยมาจากการติดเชื้อใหม่ ทั้งนี้ การรักษาไวรัสตับอีกเสบบีและซีได้สิทธิรักษาฟรีในทุกระบบประกันสุขภาพภาครัฐ”รศ.พญ.วัฒนา กล่าว


รศ.พญ.วัฒนา กล่าวอีกว่า หลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1.คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด สามารถบอกเขาให้มาตรวจเชื้อได้ 2.กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป 3.กลุ่มที่มีการสัก เจาะที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง 4.กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด 5.คนที่อยู่ในคุก 6.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็งตับ หรือตับอักเสบหรือมีภาวะตัวเหลือง และ7.คนตั้งครรภ์ก็ต้องตรวจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไปตรวจสุขภาพแล้วพบตับอักเสบ ต้องรีบรักษา


ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติม สำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1.ยาเม็ดรับประทานโซฟอสบูเวียร์( Sofosbuvir) 400 มิลลิกรัม(มก.) เพื่อใช้ร่วมกับยาฉีด เพกอินเตอร์เฟอรอน(Peginterferon) และยาเม็ดรับประทานไรบาวิริน (Ribavirin) สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2.ยาเม็ดสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์ 400 มก. และ เลดิพาสเวียร์(Ledipasvir) 90 มก.สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย


“สูตรยาที่เพิ่มมานี้ จะสามารถลดระยะเวลาในการรักษาลง จาก 24 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ และมีประสิทธิผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าการใช้ยาฉีดเพกอินเตอร์เฟอรอน และยาไรบาวิริน สูตรเดิมอย่างเดียว ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาและกระจายให้กับหน่วยบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่ายาเม็ดทั้งสิ้น 66,360,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดหายาระดับประเทศ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและได้ยาในราคาที่ถูกลงกว่ากระจายให้หน่วยบริการจัดหาเอง” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่าการติดต่อของไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มร่วมกัน นอกจากนี้ในอดีตโรคไวรัสตับอักเสบบี ยังสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้มากอีกด้วย โดยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี จะมีอาการไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดจุกชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งพาหะไวรัสตับอักเสบ ถึงไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซี เปิดคัดกรองทุกคนฟรี 83 รพ.

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซี เปิดคัดกรองทุกคนฟรี 83 รพ.

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซี เปิดคัดกรองทุกคนฟรี 83 รพ.