รวมพลัง 'อ่าน' สร้างชาติ ไทยอันดับ2 ใช้เวลากับการอ่านมากที่สุดในโลก
ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกต่างให้เครดิตกับการอ่าน จนบางครั้งยกให้เป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของตนด้วยซ้ำ
การอ่านได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการสร้างความรู้ด้วยความเพลิดเพลินมานานแล้ว หลายๆ ประเทศต้องทำโครงการรณรงค์รักการอ่านพัฒนานิสัยคนในชาติ
ก่อนหน้านี้ NOP World Culture Score Index เคยสำรวจพบว่า ชาวอินเดียใช้เวลากับการอ่านมากที่สุดในโลก เฉลี่ย 10.7 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ตามด้วยไทย 9.4 ชั่วโมง จีน 8 ชั่วโมง ฟิลิปปินส์ 7.36 ชั่วโมง อียิปต์ 7.30 ชั่วโมง สาธารณรัฐเช็ก 7.24 ชั่วโมง รัสเซีย 7.06 ชั่วโมง ชาวฝรั่งเศสและสวีเดนอ่านหนังสือเฉลี่ยเท่ากันที่ 6.54 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ตามด้วยซาอุดีอาระเบีย 6.48 ชั่วโมง ขณะที่ชาวเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตกอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่คนละ 3.1 และ 4.1 ชั่วโมงตามลำดับ
ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกต่างให้เครดิตกับการอ่าน จนบางครั้งยกให้เป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของตนด้วยซ้ำ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีพันล้าน และเจ้าของบริษัทเบิร์กไชร์แฮธะเวย์ ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงต่อวันอ่านหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ ทั้งยังอ่านเอกสารการเงิน 500 หน้า พร้อมแนะนำให้นักลงทุนคนอื่นๆ ทำแบบนี้ด้วย
“นี่คือวิธีที่ความรู้ทำงาน มันจะสั่งสมเหมือนดอกเบี้ยทบต้น ทุกคนทำได้ แต่ผมเชื่อว่ามีพวกคุณไม่กี่คนหรอกที่จะทำแบบนี้” ครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์เคยกล่าวในห้องบรรยายการลงทุนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
บิล เกตส์ อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์ยืนยันว่า อ่านหนังสือปีละ 50 เล่มหรือสัปดาห์ละ 1 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นสารคดีว่าด้วยสาธารสุข โรค วิศวกรรม ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงนวนิยายที่บางครั้งต้องอ่านถึงดึกดื่น แต่เกตส์นิยมเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลก
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ค ที่เมื่อปี 2558 เคยประกาศผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนว่าจะอ่านหนังสือ 1 เล่มทุกๆ สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยี
“หนังสือเปิดโอกาสให้คนแสวงหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ และนำพาตนเองลงไปลึกซึ้งกว่าสื่ออื่นใดในทุกวันนี้ ผมพยายามเปลี่ยนแปลงนิสัยเสพสื่อหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น”
สำหรับอีลอน มัสก์ นานมากแล้วก่อนจะมาเป็นซีอีโอเทสลา เมื่อยังเด็กเขาเคยอ่านนิยายวิทยาศาสตร์นานถึงวันละ 10 ชั่วโมง อ่านเอนไซโคลพิเดีย บริเทนนิกาจบทั้งเล่มเมื่อายุ 9 ขวบ เขายังให้เครดิตการอ่านว่าทำให้มีความรู้มหาศาลเรื่องจรวด
เมื่อเร็วๆ นี้ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ผู้รับราชการทหารมาถึง 40 ปี ก็ยกย่องว่าภาวะผู้นำของตนได้มาจากการอ่าน
“ก็เพราะการอ่าน ผมไม่เคยอับจนกับสถานการณ์ใดๆ ไม่เคยหมดหนทางแก้ปัญหา มันไม่มีคำตอบให้ผมทั้งหมดหรอก แต่มีแสงสว่างรำไรบนเส้นทางมืดมนเสมอ” แมตทิสส่งอีเมลเมื่อปี 2546 ถึงจิล รัสเซลล์ นักประวัติศาสตร์การทหาร
“การเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงเท่ากับว่า เราไม่ได้เผชิญอะไรใหม่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงนี้ เราต่อสู้บนโลกใบนี้มา 5,000 ปีแล้ว และเราควรใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ดังกล่าว”
ในแง่ของคนธรรมดาสามัญชาวจีนถือเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีพฤติกรรมการอ่านน่าสนใจ นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์แล้วชาวจีนเริ่มใช้อีรีดเดอร์มากขึ้น ตัวเลขปี 2560 ทะลุ 378 ล้านคน
ผลการสำรวจของอเมซอนไชน่า พบว่า ปี 2560 ชาวจีนอ่านอีบุคส์ 19% มากกว่าอ่านสิ่งพิมพ์ที่ตัวเลขอยู่ที่ 12% คนรุ่นหลังยุค 90 พร้อมจ่ายเงินเพื่อเนื้อหาดีๆ มากขึ้น คนที่ใช้เครื่องอ่านอีบุคส์อย่างคินเดิลมีมากขึ้นทุกที ผู้ให้ข้อมูลกว่าครึ่งระบุว่า ตนอ่านทั้งอีบุคส์และหนังสือเล่ม
ช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ทั้งหนังสือเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมมากทั้งคู่ ผู้อ่านส่วนใหญ่อ่านวรรณกรรมและนวนิยาย ตามด้วยการจัดการการเงินและวิทยาศาสตร์ ขณะที่หัวข้อด้านสังคมศาสตร์ที่ผู้คนสนใจอ่านมากที่สุดคือประวัติศาสตร์