21 องค์กรเรียกร้องทุนไทย รับผิดชอบเขื่อนลาวแตก
21 องค์กรเรียกร้องทุนไทยรับผิดชอบต่อความสูญเสียเหตุเขื่อนในลาวแตก
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.61 แถลงการณ์จากเครือข่ายประชาสังคมไทย เรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศ กรณีความสูญเสียจากเขื่อนในลาวแตก
พวกเราในฐานะประชาชนไทยอันประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชน นักสิต นักศึกษา และนักวิชาการ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ความเสียหายจากภาวะเขื่อนเซน้ำน้อยแตกในประเทศลาว ตั้งแต่สองวันที่ผ่านมา ในฐานะเพื่อนมนุษย์ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อการสูญเสียของประชาชนชาวลาวครั้งยิ่งใหญ่นี้ และขอเรียกร้องถามความรับผิดชอบของผู้ลงทุนไทยในเหตุการณ์เขื่อนเซน้ำน้อยแตก ในฐานะผู้ลงทุนโครงการ และธนาคารไทยที่ให้เงินกู้สำหรับโครงการนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่เกษตรกรรม และมีผลกระทบทางร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบโดยเร็วที่สุด ตามหลักการมาตรฐานและสิทธิมนุษยชนสากล
จากเหตุการณ์เขื่อนเซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัตตะปือ สปป. ลาว ได้ส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงจากผู้ลงทุนไทย โครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสักและอัตตะปือ สปป. ลาว เป็นโครงการที่บริษัทไทยถือหุ้น 25% และผู้ลงทุนสัญชาติเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เขื่อนจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 นี้ โดยที่พลังงาน 90% จะส่งมาขายให้กับประเทศไทย และมี 4 ธนาคารของไทยที่ร่วมลงทุนผ่านเงินกู้ในโครงการนี้
เขื่อนเซน้ำน้อย เริ่มแตกตั้งแต่กลางคืนของวันจันทร์ (23 กรกฎาคม 2561) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 6 หมู่บ้าน และประชาชนกว่า 6,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย มีผู้สูญหายอย่างน้อย 200 คน และพบว่าเสียชีวิตแล้ว 50 คน เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทดังกล่าว แถลงว่า เขื่อนคันดินเกิดรอยแตกร้าวหลังจากมีพายุฝนอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำมหาศาลไหลออกจากอ่างเก็บน้ำ และยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการผลิตไฟฟ้าตามกำหนดการ แทนที่จะแสดงความห่วงใยหรือแถลงถึงมาตรการช่วยเหลือหลังเขื่อนแตก แต่บริษัทกลับเงียบกริบในประเด็นเหล่านี้
เขื่อนคันดินที่แตกในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการก่อสร้างต่อมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของเขื่อน ตามหลักการและแนวทางของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งหลักการดังกล่าวเสนอว่า ควรมีการพัฒนากลไกเพื่อให้การชดใช้ค่าเสียหายหรือการชดเชยย้อนหลังสำหรับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วตลอดจนฟื้นฟูความเสียหาย การขาดกระบวนการที่สอดคล้องต่อมาตรฐานในการสร้างเขื่อนระดับโลกของเขื่อนเซน้ำน้อยนี้ เป็นผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสูญหายของประชาชนกว่า 6,000 คน
เราขอเรียกร้องให้ผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศเรียนรู้ว่า ความปลอดภัยของเขื่อน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จากกรณีเขื่อนเซน้ำน้อย รวมถึงการประเมินผลกระทบเชิงลึกต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้วก่อนที่จะมีการดำเนินการในโครงการใหม่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา
เราขอเรียกร้องให้ บริษัทไทย แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสียครั้งนี้ และบริษัทต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด