ยานยุโรปพบ ‘ทะเลสาบ’ บนดาวอังคาร
นักดาราศาสตร์นานาชาติเผย ยานสำรวจดาวอังคารของยุโรปค้นพบลำธารขนาดใหญ่ใต้ชั้นน้ำแข็งของดาวอังคาร ทำให้มีความหวังมากขึ้นที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิต
ทีมนักวิจัยในโครงการยานสำรวจอวกาศ “มาร์ส เอ็กซ์เพรส” ขององค์การอวกาศยุโรป (อีซ่า) เผยผลการค้นพบในวารสารไซแอนซ์ของสหรัฐ ระบุถึงการค้นพบทะเลสาบขนาดใหญ่ใต้ชั้นน้ำแข็งบนพื้นผิวดาวอังคาร แสดงให้เห็นว่าบนดาวเคราะห์สีแดงมีน้ำ และอาจรวมถึงสิ่งมีชีวิตด้วย
การตรวจหาใช้อุปกรณ์เรดาร์ที่ใช้หยั่งความลึกที่เรียกว่า “มาร์ซิส” (MARSIS) ในภูมิภาคที่เรียกว่า “ปลานุม เอาสตราเล” (Planum Australe เป็นภาษาละตินแปลว่า ที่ราบทางใต้) บริเวณขั้วน้ำแข็งทางใต้ของดาว ระหว่างเดือนพ.ค. 2555-ธ.ค. 2558 ซึ่งข้อมูล 29 ชุดช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถร่างแผนที่ของทะเลสาบใต้ชั้นน้ำแข็งได้
ทะเลสาบดังกล่าวมีความกว้างราว 20 กม. เป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบบนดาวอังคาร อยู่ลึกลงไปจากชั้นน้ำแข็งผิวดาวราว 1.6 กม. ขณะที่ทะเลสาบคาดว่ามีความลึกราว 1 เมตร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีความยาวเท่าไร ซึ่งข้อมูลเรดาร์ที่ปรากฏมีลักษณะที่คล้ายกันกับทะเลสาบใต้ดินที่พบใต้ชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์บนโลก
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยในทะเลสาบแห่งนี้และยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันหรือไม่นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังกังขาถึงความเป็นไปได้นี้ เพราะเชื่อว่าน้ำจะมีอุณหภูมิที่เย็นจัดและมีปริมาณความเข้มข้นของเกลือและแร่ธาติในระดับสูง อุณหภูมิคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์มาก
ขณะเดียวกัน การที่น้ำยังคงสถานะเป็นของเหลวภายใต้สภาวะนี้ได้ จะต้องมีส่วนผสมของโซเดียม แคลเซียม และแมกนีเซียม