กลยุทธ์ ‘ครีเอทีฟ เวนเจอร์’ ในสนามซิลิคอนวัลเลย์

กลยุทธ์ ‘ครีเอทีฟ เวนเจอร์’  ในสนามซิลิคอนวัลเลย์

ต้องเป็น Deep Tech และ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานั้นสามารถแก้ปัญหาให้กับปัญหาหลักๆ ของโลกใบนี้ได้

การขยายตัวของธุรกิจสตาร์ทอัพมีเพิ่มขึ้นทุกปีในแต่ละประเทศ ในฝั่งของ เวนเจอร์ แคปิตอล ที่เป็นนักลงทุนก็มีรายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกันบนความคาดหวังถึงโอกาสการสร้างผลตอบแทนให้ได้อย่างน้อย 5x-10x และการได้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่สร้างอิมแพ็คจากการเข้าไปแก้ปัญหาในระดับประเทศและระดับโลก

Creative Venturesธุรกิจร่วมลงทุน ก่อตั้งขึ้นโดย ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ทายาทกรุงไทยการไฟฟ้า หรือแชมป์ ที่ใช้ประสบการณ์จากการศึกษา MBA จาก University of California, Berkeley-Hass School of Business, MSE ด้านวิศวกรรมอุตสหการ และBSE ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจาก University of Michigan, Ann Arbor รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรในซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้เห็นว่า สตาร์ทอัพ มีศักยภาพทำอะไรได้เยอะมาก

งานหลักๆที่ ปุณยธร รับผิดชอบคือการเป็นผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัท ครีเอทีฟเวนจอร์ จำกัด(Creative Ventures-CV)กับอีกภารกิจในตำแหน่ง Chief Strategy Officer ของ SHARP ในประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัว โดย ปุณยธร ดูแลในเรื่องการลงทุนเป็นหลัก

จากการศึกษาถึงทิศทางและความเป็นไปได้แล้วก็เริ่มเดินหน้าจัดตั้ง Creative Ventures ขึ้นเมื่อมกราคม 2559 โดยกองแรกเป็นเงินทุนที่มาจากครอบครัว

“ในความตั้งใจผมต้องการทำให้ดูก่อนว่าตรงนี้ทำได้และเป็นโอกาสจึงเริ่มที่เงินของครอบครัวผมก่อน เมื่อทำให้เห็นแล้วว่าจากนั้นก็ค่อยแชร์ออกไป”

ที่ผ่านมา การดำเนินการในส่วนของกองแรกเป็นไปตามแผนงานที่วางเอาไว้ จนถึงตอนนี้ ลงทุนไปแล้วใน 15 สตาร์ทอัพ

ทุกอย่างเดินไปตามกลยุทธ์ที่คิดไว้ นั่นคือ ลงทุนกับสตาร์ทอัพกลุ่ม Deep Technology ที่อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา เป็นหลัก

อีกทั้งเกณฑ์การตัดสินใจเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพตัวใดนั้นจึงยึดตามกรอบที่กำหนดไว้ชัดเจน

หนึ่ง ต้องเป็น Deep Tech สอง เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานั้นสามารถแก้ปัญหาให้กับปัญหาหลักๆ ของโลกใบนี้ได้

ปุณยธร บอก การมองว่าเทคโนโลยีใดจะเข้ามาแก้ปัญหาซึ่งเลือกที่เป็นเฉพาะเมกกะเทรนด์ (Mega Trend)หรือแนวโน้มใหญ่ของโลกอนาคตใน 3 ด้านหลักเท่านั้น

ด้านแรก ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลคุณภาพชีวิตประชากรผู้สูงวัย หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย

โดยมองว่า การมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและคุ้มค่า มากกว่าความต้องการบริการด้านการรักษาพยาบาล

ด้านที่สอง ธุรกิจเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เช่น การก่อสร้างและการผลิตที่กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ในขณะที่มีความต้องการประสิทธิภาพทางการผลิตเพิ่มขึ้น

ด้านที่สาม ธุรกิจที่เข้าไปดูแลหรือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน(Climate change)

จากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ ความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากประชากรโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงโลกมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ35%และน้ำเพิ่มขึ้น40%ในปี 2583 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

โดยรวมเป็นการเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) , หุ่นยนต์ (Robotics) และเทคโนโลยีทางชีวภาพ (Biotechnology)

“มองว่า เทคโนโลยีขั้นสูงที่เข้าไปลงทุนจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลก ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และแก้ไขสิ่งที่จะเป็นแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาสำคัญของโลก”

กรณีของ ALICE Technologiesสตาร์ทอัพ 1 ใน 15 ตัวในพอร์ตที่ได้ลงทุนไปแล้ว มีจุดเด่นที่ระบบ AI ซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการการก่อสร้างในโครงการอสังหาริมทรัพย์

ด้วยขีดความสามารถของเทคโนโลยีทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาในการก่อสร้างลง ทั้งในส่วนของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และ บริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยธุรกิจในไทยที่นำระบบนี้มาใช้แล้วก็คือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน

Visolis Biotechnology เป็นอีกธุรกิจที่ Creative Ventures เข้าไปลงทุน โดยจุดเด่นอยู่ที่ชีววิทยาสังเคราะห์ ที่นำมาใช้กับภาคธุรกิจทำให้ลดต้นทุนได้มากเป็น 2.5 เท่า

Dishcraft สตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ปฎิบัติงานในห้องครัว เข้ามาช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในธุรกิจบริการด้านโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจเอนเตอร์เทนเม้นต์ขนาดใหญ่ จนได้รับการยอมรับจากผู้นำในธุรกิจนี้

“Kitchen Robot เทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยงานครัวเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในอนาคต

ตัวนี้ลงทุนไปไม่ถึงปีสามารถสร้าง Value ได้แล้วเป็น 10 เท่า” 

ถึงตอนนี้ Creative Ventures ทำการเปิดตัวการลงทุนกองทุนร่วมลงทุนกองที่สอง มูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเมื่อปลายปี 2560

เป้าหมายเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงนักลงทุนในไทย

“โดยเราจะเป็นหนึ่งในช่องทางให้นักลงทุนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในไทยได้เข้าถึงสตาร์ทอัพ Deep Tech ในสหรัฐอเมริกา”

สำหรับกองทุนร่วมลงทุนกอง 2 ที่ตั้งขึ้นมีนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และเห็นโอกาสในการลงทุน ที่ตอบรับการเข้าลงทุนแล้วอาทิ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย และ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(มหาชน) TKN เป็นต้น

ถึงตอนนี้ ปุณยธร บอก Creative Ventures เดินมาถูกทางแล้วจากสตาร์ทอัพบางตัวที่ลงทุนไปเริ่มสร้างมูลค่าเป็น 10x ขณะที่ภาพใหญ่มองไว้ถึงกรอบเวลาการลงทุนที่ 5-7 ปี มีอัตราผลตอบแทนที่ 5x-10x

ซึ่งการลงทุนในครั้งๆต่อไปจะยังคงโฟกัสใน Deep Tech ที่อิงตามเมกะเทรนด์ของโลก พร้อมๆ กับทำงานสร้างเน็ตเวิร์คให้กว้างขึ้นกว่าเดิม