ไอทีอ่านเลขตู้ ตัวช่วยอุตฯโลจิสติกส์
สตาร์ทอัพในโครงการสมาร์ทซิตี้ฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตรวจจับภาพในการอ่านเลขตู้คอนเทนเนอร์ แก้ปัญหาความล่าช้าและผิดพลาดในระบบบริหารจัดการท่าเรือขนส่งสินค้า ลงพื้นที่ทดสอบที่ท่าเรือสหไทย หวังเปิดตลาดโลจิสติกส์ในเขตเศรษฐกิจอีอีซี
โครงการสมาร์ทซิตี้ สตาร์ทอัพ ดิเวลลอปเม้นท์ เกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มุ่งกระตุ้นและส่งเสริมให้นักวิจัยไทยมีโอกาสนำเสนอผลงานที่สนับสนุนแนวคิดเมืองอัจฉริยะ และเพื่อก้าวให้ทันยุคดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2560-2564) โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงาน
ผศ.นภดล มณีรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2560 - ก.ย.นี้ มีโครงการที่จะพัฒนาเมืองให้เกิดชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งหมด 20 โครงการ ซึ่งทั้งหมดได้เปิดเป็นบริษัทเพื่อรองรับธุรกิจที่จะเกิดในโครงการนี้แล้ว มีผู้ร่วมลงทุน 10 ราย ส่วนผลงานของทีมนักวิจัยที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุน
เสริมภาพลักษณ์ความทันสมัย
ระบบอ่านเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติ หรือ ACNR (Automatic Container Number Recognition) เป็น 1 ใน 20 โครงการ โดย ปิยะวัฒน์ แสงประเสริฐกฤด หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด กล่าวว่า ได้รับโจทย์ในหมวดอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งมีปัญหาการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์จากเดิมใช้คนจดเลขตู้ ทำให้มีความล่าช้าในการจัดเก็บข้อมูลเข้าระบบหลังบ้าน แถมยังเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการจดบันทึก จะเป็นการเสียเวลาค้นหาและแก้ไขเอกสาร
ACNR เป็นการใช้เทคโนโลยีตรวจจับภาพหรือ Image Processing Technology ตรวจจับภาพเลขตู้คอนเทนเนอร์ จึงมีความแม่นยำสูงและยังสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบหลังบ้านหรือระบบปฏิบัติการภายใน เช่น ระบบ TOS หรือระหว่างหน่วยงาน เช่น ระบบ NSW โดยอัตโนมัติได้ในเวลาไม่กี่วินาที”
การใช้ระบบ ACNR ยังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ทันสมัย แก่ประเทศไทย เพราะในต่างประเทศเริ่มใช้ระบบนี้กันแล้ว แต่ไทยยังใช้น้อยมากอาจจะด้วยต้นทุนที่สูงมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การดูแลรักษาต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาจากต่างประเทศ ดังนั้น ACNR ทำให้เป็นโอกาสสำหรับเทคโนโลยีไทย
“การที่มีบริษัทคนไทยได้พัฒนาระบบต่าง ๆ ขึ้นมาเองในประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ระบบที่อำนวยความสะดวกและยกระดับธุรกิจด้วยต้นทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังสามารถพัฒนาการทำงานของโปรแกรมหรือระบบให้เป็นไปตามลักษณะการใช้งานของธุรกิจได้”
“ท่าเรือสหไทย”ร่วมทดสอบระบบ
ปัจจุบันระบบ ACNR อยู่ในช่วงการทดลองติดตั้งใช้งานที่ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT ซึ่งเป็นการลงนามในสัญญาความร่วมมือ 3 ฝ่ายได้แก่ สจล. บริษัทสหไทยฯ และบริษัทเวริลีฯ
“เราหวังจะใช้ท่าเรือของสหไทยเป็นโมเดลความสำเร็จ ก่อนที่จะขยายการใช้งานระบบ ACNR ไปยังท่าเรืออื่นๆ นิคมอุตสาหกรรม ลานตู้คอนเทนเนอร์ ทั่วประเทศ โดยมุ่งไปที่เขตพื้นที่อีอีซี เพราะเมื่อประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งจากโครงการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านคมนาคมต่างๆ ปริมาณของสินค้าย่อมมากขึ้น ดังนั้น ความรวดเร็ว ความถูกต้องแม่นยำ การพัฒนาด้านการบริหารจัดการ รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถูกพัฒนา”
ทั้งนี้ โครงการสมาร์ทซิตี้ฯ ยังมีอีก 19 โครงการที่มุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้มีชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาในด้านต่างๆ อย่างเช่น โครงการระบบจัดการขยะอันตรายชุมชนอัจฉริยะ, โครงการ QUE Q ระบบคิวอิสระสำหรับโรงพยาบาล จองและจัดการคิวผ่านบริการคลาวด์และโมบายแอพพลิเคชั่น ช่วยลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ,
โครงการชุดพัฒนาซอฟต์แวร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลการประมง ทำทุ่นเพื่อตรวจจับน้ำเสียเพื่อการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่, โครงการตาคู่ใจ ตอบโจทย์จากสมาคมคนตาบอดฯ เพราะอยากให้ผู้พิการทางสายตาใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม เป็นต้น