ชี้คสช.-กกต.เอาให้ชัด พรรคใช้โซเชียลติดต่อสมาชิกได้หรือไม่
"วราวุธ ศิลปอาชา" จี้ "คสช.-กกต." เอาให้ชัด พรรคการเมือง ติดต่อสมาชิกผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำอะไรได้-ไม่ได้ เหตุโลกออนไลน์ซับซ้อนมาก
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีตส.ส.สุพรรณบุรีและแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงการคลายล็อกทางการเมือง โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง(เพิ่มเติม) ว่าก่อนอื่นต้องขอบคุณคสช. แต่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายเพราะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เช่นการที่ให้ทุกพรรคการเมืองสามารถเรียกประชุมพรรคการเมือง เพื่อเสนอร่างข้อบังคับพรรคใหม่ เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ เพราะตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเหล่านี้อยู่เลย
นอกจากนี้ยังให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการหาสมาชิกได้ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการเลือกตั้งผู้สมัครของพรรคการเมืองจะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 90 วัน คสช.คลายล็อคให้อย่างนี้สามารถทำให้พรรคการเมืองดำเนินงานตามกฏหมายที่กำหนดเอาไว้ได้
“แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่คือการติดต่อสมาชิกพรรคโดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เรื่องนี้คงต้องขอความชัดเจนจากคสช. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้เร่งพิจารณาแล้วมีแนวทางที่ชัดเจนให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติเพราะในโลกออนไลน์นั้นมีรายละเอียดซับซ้อน มีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น เฟซบุ๊ก ของพรรคการเมืองจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เปิดเป็นสาธารณะเพื่อให้สื่อสารกับสมาชิกได้อย่างเดียวซึ่งข้อนี้ผมเองก็ยังจนปัญญาอยู่เหมือนกันหรือแม้แต่เว็บไซต์ของพรรคจะต้องทำอย่างไรก็ยังนึกไม่ออก การควบคุมการพูดคุยหรือสิ่งที่ดำเนินไปบนโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก”
นอกจากนี้สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกกต.เพราะจากนี้ไปทุกพรรคการเมืองจะต้องเดินหน้าหาสมาชิก โดยต้องหาให้ครบ 5,000 คนภายในหนึ่งปี (13กย.62) หรือแม้แต่การที่จะต้องให้มีสมาชิก 500คนเบื้องต้นนี้ก่อน และยังมีเรื่องการชำระค่าบำรุง ภายใน 180 วัน ในขณะที่ผู้สมัครทั่วประเทศคงต่างเร่งรัดในการรับสมาชิกเข้ามา โดยคงจะมากกว่า 500คน แน่นอน แล้วเมื่อถึงเวลาทุกพรรคย่อมถาถมไปที่กกต.แล้วฐานสมาชิกฐานข้อมูลหรือระบบการปฎิบัติการของกกต.นั้นมีความพร้อมในการรองรับในจุดนี้หรือไม่ไม่ว่าจะเป็นกำลังคนกำลังเทคโนโลยีพร้อมหรือไม่
ส่วนเรื่องพรรคการเมืองจะไปหาเสียงเมื่อถึงเวลาก็ได้กำหนดไว้อีกว่านโยบายที่จะนำเสนอต่อสาธารณะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องส่งให้กกต.เป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องใช้งบประมาณจากไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่
เมื่อทุกพรรคการเมืองเสนอเข้าไปแล้วกกต.จะสามารถพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบายแต่ละพรรคการเมืองได้หรือไม่ กกต.มีบุคลากร
ที่มีความพร้อมในการนั่งวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละพรรคที่มี30-40พรรค หรือไม่ และเมื่อวิเคราะห์แล้วยังต้องส่งแจ้งผลกลับมาที่พรรคการเมืองอีกสิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า บุคลากรในกกต.ต้องมีจำนวนมหาศาลเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ตนจึงมีความเป็นห่วงมากว่ากกต. จะทำงานทันหรือไม่
ส่วนกรณีที่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ยกเลิกการใช้ไพรมารี่โหวตและให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครแทน นั้น อย่างน้อยคงเป็นการเอื้อพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ขึ้นมาเรียนตรงๆว่าระบบไพรมารี่ไม่เหมาะตั้งแต่แรกการไปเลียนแบบรูปแบบการเมืองของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทยโดยตรงไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตามสามารถเป็นตัวพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมานั้นทำไม่ได้เพราะถ้าทำได้คสช.คงไม่ออกมาตรา 44 มายกเว้นเรื่องนี้อย่างไรก็ตามขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนารอให้ได้พูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 28 กันยายนนี้เสร็จก่อน จึงจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค จากนั้นประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์