‘Ocare’ เฮลท์แคร์ ออนดีมานด์
การได้เห็นและอยู่ใกล้ชิดกับ “ปัญหา” ทำให้เห็นชัดถึง “โอกาส” ที่จะแก้ไขไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม
พญ.ชุติมา ดุลย์มณี CEO และ Co-Founder Ocare เป็นอีกหนึ่งคนที่มองว่าเห็นปัญหาของการเดินทางเพื่อรับบริการด้านสุขภาพยังเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำอยู่ก่อนแล้วให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาเว็บไซต์วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสุขภาพ www.ocare.co เป็นหนึ่งในโปรดักท์หลักที่มุ่งให้บริการแนะนำรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล พร้อมแสดงผลการค้นหาแพ็กเก็จตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร
"จากที่เจอมา เวลาประชาชนไปตรวจสุขภาพ มักจะไม่ทราบว่ารายการต่างๆ ที่ตรวจมีความเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ เกินความจำเป็นหรือไม่ เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นจะสามารถบอกได้ว่า สิ่งที่แต่ละคนควรจะเลือกรายการตรวจสุขภาพนั้นเป็นอย่างไร
ผู้ใช้งานทำแค่กรอกข้อมูลเพศ อายุ ความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและโรคทางพันธุกรรม จากนั้นระบบทำการวิเคราะห์ข้อมูลว่าผู้ใช้งานแต่ละคนควรตรวจสุขภาพในด้านใด ตรวจ Lab อะไรเพ่ิ่มเติมอีกบ้าง รวมถึงหรือควรระมัดระวังโรคใดบ้าง"
อีกหนึ่งฟีเจอร์หลักของ Ocare ก็คือ การค้นหาและแสดงแพ็กเก็จตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลต่างๆที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆขึ้นมาให้พิจารณา
ภายหลังเปิดให้บริการมาสักระยะ พญ.ชุติมา ก็พบว่า โมเดลธุรกิจในแบบมาร์เก็ตเพลส โฟกัสที่การขายแพ็คเก็จสุขภาพให้กับโรงพยาบาลต่างๆ นั้นเริ่มเห็นสัญญาณว่า “ไปต่อ” ได้ยาก ทำให้เริ่มคิดหาบิสิเนสโมเดลแบบใหม่ที่ต้องทั้ง แก้ปัญหาได้ และสร้างรายได้ในเวลาเดียวกัน
“ปัญหาที่เจอตอนแรก จากเดิม ทำมาร์เก็ตพลส ใช้เวลาเดือนเดียวในการเปลี่ยน รู้ว่าเจอทางตันไปต่อไม่ได้ บิสิเนส โมเดล ไม่ทำเงิน ทำไปอาจจะไม่ได้ ทำให้ต้องเริ่มศึกษาตลาดกันใหม่จนพบว่า การลูกค้าไม่ตัดสินใจซื้อแพ็คเก็จนั้นหลักๆ ไม่ได้มากจากแพ็คเก็จไม่น่าสนใจ แต่เราเจอปัญหาที่ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่อยากไปโรงพยายาล”
นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Ocare ในเวอร์ชั่นใหม่ที่ “พลิก” จาก “มาร์เก็ตเพลส” ขายแพ็คเก็จด้านสุขภาพ มาเป็น “ออนดีมานด์ เฮลท์แคร เซอร์วิส”
"เราเปลี่ยนเอา บริการสุขภาพไปให้ถึงบ้าน ในตอนแรก เริ่มจาก Health checkup แต่อีกความน่าสนใจที่ค้นพบคือ บริการตรวจตามใบสั่งแพทย์ คนที่มีปัญหาจริงๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคเรื้อรัง คนเหล่านี้ลูกเป็นคนซื้อแพ็คเก็จให้ โดยที่แม่และพ่อมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่แล้ว
เราเจอคำถามเยอะมาก คนส่วนใหญ่อาจมีสวัสดิการอยู่แล้ว แต่ไม่อยากเดินทาง แล้วอีกอย่างพอไปถึงโรงพยาบาลต้องเสียเวลารอคิวนาน
ในทางกลับกัน สิ่งที่เค้าซื้อจากเราคือความสะดวก พยาบาลไปเจาะเลือด คนไข้ไม่ต้องเดินทาง"
ทั้งนี้ Ocare จะมีบริการจะมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตั้งแต่การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจ ความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ ตรวจปัสสาวะ ทั้งนี้ ยังสามารถเลือกตรวจเฉพาะทางได้ เช่น ตรวจคัดกรองเฉพาะมะเร็ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
โดยการเข้าใช้บริการ ทำผ่านการลงทะเบียนในช่องทาง https://www.ocare.co.th/ เพื่อเลือก จองวัน และเวลาที่สะดวก หลังจากนั้น Ocare จะส่งนักเทคนิคการแพทย์ หรือพยาบาลวิชาชีพ เดินทางไปตรวจสุขภาพถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักที่ให้บริการคือ การตรวจสุขภาพประจำปี เช่นที่กล่าวมาข้างต้น โดย พญ.ชุติมา เป็นการโฟกัสตลาดเป็นรายบุคคลมากกว่า ขณะที่การทำตลาดองค์กรจะเป็นบริการ Personal health report
"หลังจากปรับบิสิเนสโมเดล พบว่า ลูกค้าตอบรับดี เพราะตรวจสุขภาพส่วนใหญ่คนที่ตรวจยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค ยังไม่มี health concern มากพอ ถ้าหากเป็นกลุ่มตามใบสั่งแพทย์ที่อย่างไรก็ต้องตรวจเป็นประจำอยู่แล้วแต่เดินทางไม่สะดวกจะให้ความสนใจกับบริการในลักษณะนี้
จนถึงวันนี้เปิดให้บริการแล้วใน 9 จังหวัด นับการให้บริการด้านสุขภาพมากถึง 100 บริการแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริการที่ทำไปแล้วกว่า 4,500 รายงานผลสุขภาพ
สิ่งสำคัญที่ทำให้ Ocare เติบโตต่อเนื่องได้ พญ.ชุติมา บอก ในส่วนของคนที่มาใช้บริการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในกลุ่ม Health Tech หนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งทางทีมงานตระหนักในเรื่องนี้โดยนำเสนอแพทย์ พยาบาลที่ให้บริการอย่างมืออาชีพ มีตัวตนจริง และสามารถตรวจสอบได้
สำหรับแผนการขยายงานต่อจากนี้ จะโฟกัสที่ Ondemand healthcare Service เป็นหนักด้วยจุดแข็งของต้นทุนการบริหารจัดการที่น้อยกว่าโรงพยาบาล พร้อมด้วยรูปแบบแพ็คเก็จการให้บริการด้วยโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า
“เนื่องจากเราเป็น Domain expert ก็ให้ solution ได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล ยิ่งมาทำงานสตาร์ทอัพ คีย์หลัก คือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยเอาปัญหาของลูกค้ามาพัฒนาโปรดักท์”
นอกจากนี้ พญ.ชุติมา ยังมองถึงการต่อยอดไปอีกในหลายๆ ส่วน ทั้งต่อยอด เรื่องการตรวจก่อนทำประกันที่เป็นนิยมกันมากขึ้นระยะหลัง โดยผู้ใช้บริการเกิดได้ทั้งในฝั่งบริษัทประกัน และลูกค้าที่ต้องการตรวจสุขภาพก่อนซื้อโปรดักท์
“โอกาสของตลาด Personal health report น่าจะเติบโตได้อีกมาก ขณะที่ตลาดบุคคลที่ซื้อแพ็คเก็จแบบ Ondemand ก็จะได้รีพอร์ตกลับไปด้วย”
ทิศทาง Ocare จากนี้ พญ.ชุติมา มองไกลถึงปี 2020 โดยวางเป้าหมายว่า “อนาคตจะเป็นยุคที่แม้แต่บริการสุขภาพก็จะสะดวกง่าย เหมือนเรียก แก็ป”
"เดิม โรงพยาบาลจะรายงานผลลูกค้าผ่านกระดาษ แต่เราทำรายงานผ่านออนไลน์โดยใช้ระบบคลาวคอมพิวติ้ง จัดเก็บ และรีพอร์ต ซึ่งนี่จะเป็นจุดแข็งสำคัญในการให้บริการ ขณะที่โอกาสในกลุ่มองค์กรธุรกิจ หรือ โรงพยาบาล ยังสามารถนำ Personal health report ไปใช้ในการวิเคราะห์และบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสรุปว่าแต่ละตำแหน่งเจอปัญหาสุขภาพด้านใดมากที่สุด รวมถึงการวิเคราะห์ในอีกหลายๆ ด้านจะทำให้เห็นว่า ต้องพัฒนาบุคลากรแต่ละส่วนอย่างไร ตรวจสุขภาพแบบไหนที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรธุรกิจ ในด้านการใช้บริการที่ปรับตามที่ลูกค้าต้องการ
มีการพัฒนา Dashboard ซึ่งจะทำให้ HR ได้มองเห็นภาพรวม และนำมาวิเคราะห์ได้ดีกว่าในอดีต"
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ พญ.ชุติมา บอกว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่องค์กรต่างๆ จะนำใช้บริหารเรื่องสวัสดิการได้แบบที่ปรับแต่งได้ตามแต่ละบุคคล โดยที่ทุกอย่างอยู่บนฐานข้อมูลทั้่งหมด
หากเป็นเช่นนี้สิ่งที่องค์กรจะได้ก็คือ การกำหนดสวัสดิ์การได้ตรงความต้องการจริง การลดภาระงาน HR ซึ่งง่ายมากกับการทำงานบน dashboard และพนักงานก็จะมีความปลอดภัยด้านสุขภาพ
ความมุ่งมั่นของ Ocare จากนี้ หลักๆ คือ โฟกัส ondemand health service ที่ทำตลาด B2C อีกส่วน Corporate wellness เน้น B2B ซึ่งเป็นอีกตลาดที่เติบโตได้รวดเร็ว และ สามารถสเกลได้ระดับประเทศ