สนช.ผ่าน ก.ม.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มชดเชยเลิกจ้าง400วัน
สนช.ผ่าน ก.ม.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มชดเชยเลิกจ้างสูงถึง400วัน ขยายลาคลอดบุตรเป็น 98 วัน
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)โดยมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 25 มาตรา โดยสมาชิกสนช.ได้มีการแก้ไข 2 มาตรา อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตสอดคล้องกันในมาตรา 7 วรรคสอง เกี่ยวกับการที่ให้หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรคนแรกได้ไม่เกิน 98 วัน และเพิ่มมาในวรรคสามว่า วันลาให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ถือเป็นประโยชน์ของหญิงที่ตรวจครรภ์ หากไปตรวจครรภ์ในวันหยุดจะรวมเข้าไปด้วยกับว่าลาคลอดหรือไม่ ซึ่งต้องมีความชัดเพราะอาจทำให้เสียสิทธิวันลาของลูกจ้าง เช่นเดียวกับ น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายในมาตราเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความตั้งใจของการพิจารณา เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากร่างเดิม ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนี้เป็นอย่างไร
ด้านพล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หากยกเลิกอาจจะมีการตีความที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายได้เนื่องจากวันหยุดเดิมอาจจะมีผลต่อวันลาคลอดบุตรได้ซึ่งบทนิยามเดิมก็บัญญัติวันหยุดไว้ชัดเจนและตามหลักการนายจ้างจะเป็นผู้จัดทำประกาศ วันหยุดพักผ่อนประจำปี หากวันลาคลอดบุตรตรงกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ก็สามารถให้นายจ้างนำไปรวมกันได้ตามที่นายจ้างกำหนด
ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ด้วยคะแนนเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ
นายมนัส โกศล รองโฆษกกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จ จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 30 วัน ว่า สำหรับข้อดีหรือสิทธิประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่หลายกรณี ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมาอาทิ ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันเป็นจำเป็นได้ไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน โดยที่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้ กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือนิติบุคคล ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างจ้างได้ โดยที่นายจ้างจะต้องช่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับลูกจ้างตามมาตรา 38 ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้นจะเป็นการให้ลูกจ้างไปฟ้องศาลเอง
ในส่วนของลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ สามารถลาคลอดได้ทั้งก่อนและหลังคลอด รวม 98 วัน จากเดิมที่ลาคลอดได้เพียงอย่างเดียว 90 วัน ซึ่งไม่รวมลาฝากครรภ์หรือตรวจครรภ์ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้โควต้าในการลาเพื่อกิจธุระอันเป็นจำเป็น ส่วนอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เพิ่มสิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 6 อัตรา เดิมอยู่ที่ 5 อัตรา คือ 1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชย 30 วัน 2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปีได้ค่าชดเชย 240 วัน และ 5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน ซึ่งแต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน โดยในกรณีดังกล่าวไม่รวมในเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างมีความผิด หรือในกรณีที่ลูกจ้างลาออกเอง