ถกมาราธอน 9 ชั่วโมง รฟท.ประกาศ 'ซีพี' คว้าไฮสปีด
บอร์ดไฮสปีด 3 สนามบิน ถกมาราธอนกว่า 9 ชั่วโมง ก่อนตัดสินให้ “ซีพี” ชนะประมูล เหตุเสนอราคาต่ำสุด
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า หลังจาก รฟท.เปิดซอง 3 (ด้านการเงิน) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าเกณฑ์ข้อกำหนดตามเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ส่วนของเงินอุดหนุนรัฐตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ไม่เกิน 1.19 แสนล้านบาท
“ยังไม่สามารถบอกวงเงินที่ซีพีเสนอได้ เพราะต้องพิจารณาข้อมูลความเชื่อมโยง วันนี้จึงได้เชิญมาตรวจสอบตัวเลขบางตัว ซึ่งทางซีพีเข้าร่วมชี้แจง แต่จะให้คำตอบข้อมูลที่ รฟท.ยื่นขอไปในสัปดาห์หน้า ดังนั้นจึงจะมีการประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ส่วนราคาที่ซีพีเสนอมานั้นต่ำเป็นไปตามข่าว”
รายงานข่าวระบุว่า การเปิดซอง 3 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา การเปิดซองพบว่า กลุ่มซีพีเสนอค่าก่อสร้างที่ให้รัฐอุดหนุนต่ำกว่าผู้ประมูลอีกรายประมาณ 1 แสนล้านบาท
สำหรับ การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ วันนี้ (14 ธ.ค.) หารือเพื่อพิจารณาส่วนประกอบของซอง 3 ซึ่งประกอบด้วย 8 ด้าน คือ 1.บัญชีปริมาณงาน 2.แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ 3.แผนการเงิน 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการและกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน 6.ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน 7.จำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐและจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน 8.การกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยทั้ง 8 ข้อ ต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการ
ส่วนบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการฯ เป็นไปอย่างตึงเครียด เริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. รวม 9 ชั่วโมง โดยมีนายวรวุฒิ มาลา ผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เป็นประธานกรรมการ และประกอบไปด้วย ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เวลาประมาณ เวลา 18.44 น. พบตัวแทนของกลุ่มซีพี คือ นายพรเจริญ ธนานาถ และนายพิรุณห์ วัชรามนตรี เข้าร่วมในห้องประชุม หลังจากนั้นเวลาประมาณ 19.15 น. นายนพปฎล เดชอุดม รองประธาน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินทางมาเข้าร่วมที่ประชุม
สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.2 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนเริ่มต้นในระบบขนส่งทางรถไฟ 1.68 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 4.51 หมื่นล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 1.06 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะได้รับสัมปทานอายุ 50 ปี เป็นการออกแบบและก่อสร้างจำนวน 5 ปี และดำเนินการให้บริการอีก 45 ปี ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท
โดยเอกชนผู้เสนอซองประมูลโครงการดังกล่าว มีจำนวน 2 ราย ประกอบด้วย 1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)