ถอดรหัสโต ‘ฟาสต์เวิร์ค’ สานฝันงานอิสระให้เป็นจริง

ถอดรหัสโต ‘ฟาสต์เวิร์ค’ สานฝันงานอิสระให้เป็นจริง

เวลาเปลี่ยน  “ฟาสต์เวิร์ค” (Fastwork) ก็เปลี่ยนเช่นกัน จากสตาร์ทอัพทีมเล็ก ๆ มีทีมงานแค่ 4 คนเมื่อกว่าสองปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 70 คน  

ทั้งกลายเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมมืออาชีพ (Professional) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมากกว่า 70 สายงาน มีมากกว่า 2 หมื่นบริการ ถือเป็นการเติบโตที่สูงถึง 1,100%


"ในภาพใหญ่ก็คือ คนส่วนใหญ่ยุคนี้อยากมีธุรกิจส่วนตัวที่สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าความจริงในโลกนี้มีอิสระเยอะมาก คือพอมีอินเตอร์เน็ตเราก็พบวิธีหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเอง ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยนไปจากเดิม และเทรนด์นี้มาแรงมากและเกิดทุกที่ทุกโลก ซึ่งเราเป็นแพลตฟอร์มให้พวกเขาค้นหาความอิสระที่ต้องการได้ ถือว่าเรามาตรงจังหวะกับความต้องการอิสระของผู้คน ในเวลาเดียวกันบริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มลดการจ้างงานและหันมาใช้บริการ Outsource มากขึ้นด้วย "


“วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร และ “วรพล ลีลาเวชบุตร” รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวว่า เว็บไซต์ฟาสต์เวิร์ค เป็นพื้นที่สำหรับการหางานและหาคนทำงานรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งในตลาดเมืองไทย ที่ช่วยให้แรงงานนอกระบบหรืออาชีพอิสระที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีกว่า 20.8 ล้านคน มีทางเลือกในการหางานมากขึ้น
ฟาสต์เวิร์ค มีเป้าหมายในการช่วยทำให้ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างได้มาเจอกัน ช่วยให้กลุ่มธุรกิจเข้าถึงกลุ่มคนมืออาชีพง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันสามารถทำให้กลุ่มมืออาชีพได้ทำงานในสิ่งที่ถนัดซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของการจ้างงานในปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี วสะบอกว่า แม้ตัวเลขการเติบโตที่ผ่านมาของฟาสต์เวิร์คจะค่อนข้างสูง ทว่าหลักไมล์คงเดินมาไกลแค่เพียง 1 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่อยากจะทำทั้งหมด แน่นอนยังขาดบริการอีกมากที่สามารถช่วยฝั่งว่าจ้างกับฝั่งรับจ้างให้ได้มาเจอกันอย่างที่ต้องการ


โดยมองว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องการพัฒนาให้กับลูกค้าทั้งในตลาดเมืองไทยรวมถึงตลาดในประเทศเซาท์อีสต์เอเชีย (ฟาสต์เวิร์ค ขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศอินโดนีเซียแล้วเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา) ดังนั้นจึงไม่ได้มุ่งลูกค้าธุรกิจเพียงอย่างเดียว เวลานี้ฟาสต์เวิร์คได้เพิ่มบริการสำหรับลูกค้าทั่วๆไป และบางบริการก็มีความยูนีคมากถึงมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งหมายถึงงานที่คนคิดว่าคงหาที่ไหนไม่ได้ก็มาหาได้ที่ฟาสต์เวิร์ค ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่อยากฝากซื้อของจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือขนม เพราะจะได้ราคาที่ถูกกว่า เป็นต้น


ทำให้จากเคยโฟกัสคำว่า “ฟรีแลนซ์” ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า “มืออาชีพ” ด้วยมีเหตุผลอยู่ 2 ข้อหลักๆ ก็คือ คำว่าฟรีแลนซ์ให้ความรู้สึกถึงการทำงานเพียงไม่กี่อย่างเช่น การทำโลโก้ การดีไซน์ต่าง ๆ ไม่ครอบคลุม นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ฟรีแลนซ์ที่เป็นรายบุคคลเท่านั้นที่มานำเสนอบริการอยู่บนแพลตฟอร์มฟาสต์เวิร์ค ขณะที่เวลานี้กลับมีบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำธุรกิจหลากหลาย อาทิ ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย หรือโปรดักชั่นเฮ้าส์ด้วย


จุดเด่นของฟาสต์เวิร์คอยู่ที่สามารถรวบรวมบริการจากมืออาชีพที่มีคุณภาพและมากที่สุดไว้ในแพลตฟอร์มเดียว โดยทางฝั่งของกลุ่มคนมืออาชีพที่ต้องการหางานก็มาฝากประวัติไว้บนระบบ ขณะที่ผู้ว่าจ้างก็เข้ามาหามืออาชีพในหลากหลายสาขา ทั้งยังมีความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องของการเงิน เพราะระบบจะรับเงินจากผู้ว่าจ้างมาเก็บไว้ก่อนส่งต่อให้คนทำงานภายหลังจากที่ผู้ว่าจ้างอนุมัติแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันการทิ้งงานจากทั้งสองฝ่าย


กลุ่มเป้าหมายของฟาสต์เวิร์คครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก แม่ค้าออนไลน์ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการหามืออาชีพ เข้าไปช่วยในการพัฒนาธุรกิจ


สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีการจ้างงานผ่านฟาสต์เวิร์คมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. Graphic & Design 2. การตลาดและโฆษณา และ 3. Web & Programming ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับงานออกแบบและกลุ่มดิจิทัล ถามว่ามันสะท้อนอะไร?


"แสดงว่าธุรกิจกระทั่งคนทั่วไปต้องการโกออนไลน์มากขึ้น ต้องการมีเว็บไซต์ หลายคนอยากเป็นแม่ค้าออนไลน์ก็ต้องการคนมาช่วยทำเว็บ หรือต้องการบุกการตลาดออนไลน์มากขึ้น ก็จ้างให้คนทำเฟสบุ๊คแอด กูเกิลแอด เราอยากให้ฟาสเวิร์คเป็นพื้นที่ที่คนนึกถึงว่าเป็นระบบที่สามารถให้บริการได้หลากหลาย บางบริการเป็นงานที่ไม่มีในเว็บไซต์หางานทั่วไป ก็มาค้นหาได้ที่ระบบของเราในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งฟาสต์เวิร์คมีแผนเพิ่มหมวดหมู่บริการอยู่เสมอ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการด้านธุรกิจ"


ถามถึงแผนการสเกลธุรกิจในปีหน้า มีคำตอบว่าจะพยายามขยายไปตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากไปปักหมุดที่อินโดนีเซียแล้วก็จะมองหาประเทศอื่นๆที่อยู่ในเซาท์อีสต์เอเซีย รวมไปถึงการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใช้งานได้ง่ายขึ้น และจะเพิ่มบริการให้มากยิ่งขึ้น


"ความเป็นสตาร์ทอัพเราควรต้องโตให้ได้สิบเท่าทุก ๆปี และปีที่ผ่านมาเราก็ทำได้ แน่นอนยิ่งใหญ่ขึ้นก็ยิ่งยากขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดการจ้างงานพาร์ทไทม์ก็เติบโตเรื่อย ๆ ตลาดเมืองไทยโตขึ้น 30% ทุกปีทำให้เราเองก็ได้รับอานิสงส์ด้วย ปัจจุบันเราก็เป็นที่หนึ่งทั้งตลาดไทยและอินโดนีเซีย เพราะคู่แข่งในตลาดมีน้อยเพราะเป็นธุรกิจที่ทำยาก การจ้างงานออนไลน์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนไม่เหมือนกับการซื้อของออนไลน์ที่ซื้อจากเว็บไหนก็ได้ การหาคนมาให้บริการออนไลน์ต้องทำให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ระบบต้องสามารถจับคู่ฝั่งดีมานด์และซัพพลายให้แมตซ์กัน ซึ่งการพัฒนาเอไอแบบนี้ขึ้นมาได้มันยากและซับซ้อน ไม่ใช่แค่ทำให้คนมานำเสนอบริการแล้วจบ เราต้องทำให้ฝั่งคนมาหาบริการได้เจอคนบริการที่ถูกใจ และทำให้พวกเขามั่นใจที่จะใช้บริการของเรา"


พร้อมกับทิ้งท้ายว่า พวกเขามีความมั่นใจ เพราะธุรกิจที่ทำอยู่นี้ช่วยหาเงินให้กับผู้คน ช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น ซึ่งโลกใบนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าธุรกิจที่ช่วยทำให้ความฝันและใจรักอิสระของผู้คนกลายเป็นความจริง