ตลาดเกษตรออนไลน์ ดันเกษตรกรเข้าถึงดิจิทัล
ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ อีกหนึ่งช่องทางของเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบาย สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ อีกหนึ่งช่องทางของเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าที่ทั้งสะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลา ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบาย สามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรและแปรรูปได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้าแก่เกษตรกร ให้สามารถทำการค้าได้อย่างชาญฉลาด และเข้าถึงเทคโนโลยี
ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (เอบีซี เซ็นเตอร์) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดการเสวนา “ตลาดเกษตรออนไลน์ สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าของภาคการเกษตร” สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และทำให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจเกษตรที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ทั้งจากการพัฒนาของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีก้าวสู่ตลาดโลก
ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มโอกาสขาย
ทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/เฮดโค้ช Kaidee (ขายดี) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบ C2C กล่าวว่า จากข้อมูลการค้นหาสินค้าใน Kaidee.com สินค้าที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ได้แก่ รถยนต์ บ้าน พระเครื่อง อะไหล่รถ มือถือและอันดับ 11 คือ รถไถ จึงเกิดเป็นความตั้งใจที่จะสร้างตลาดออนไลน์ FarmKaidee (ฟาร์มขายดี) ขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่บนออนไลน์ได้ง่าย และสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เอง จากเดิมที่ถูกกำหนดโดยตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตจากภาคการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วน 10% ของจีดีพี
"แนวคิดการแก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำแบบเดิมได้ผลรับแบบเดิม ฉะนั้น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำงานแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่การทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นที่มาของ “ฟาร์มขายดี” ช่องทางใหม่ตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร กลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค ด้วยรูปแบบการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมกับช่องทางติดต่อที่ผู้ซื้อติดต่อกับผู้ขายได้สะดวกโดยใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เพื่อส่งเสริมการขาย”
หลังจากเปิดตัว “ฟาร์มขายดี” มีผู้เข้าชม 2 แสนครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นผลตอบรับดี ที่สำคัญสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าระหว่างเกษตรกรกับคู่ค้า รวมทั้งผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง เกษตรกรที่เลี้ยงไก่ใน จ.สงขลา สามารถขายมูลไก่ให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มปลาได้เดือนละ 3-4 ตัน
อย่างไรก็ตาม ช่องทางขายผ่านทางออนไลน์ เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการทำตลาดเท่านั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการจะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจตนเองและความต้องการของลูกค้า
ขณะที่ ธันยธร จรรยาวรลักษณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เก็ทเกษตร (GetKaset) ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ กล่าวว่า ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น แถมยังสามารถส่งขายต่างประเทศอีกด้วย เท่ากับเป็นการยกระดับเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะสินค้าสามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ โดยเฉพาะในกลุ่มผักสด ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ปุ๋ยและสารบำรุง ที่มีอัตราการเติบโตสูง
รักษาความสดของสินค้า
ตวงพลอย จิวาลักษณางกูร ผู้ร่วมก่อตั้ง เฟรชเก็ต (Freshket) ตลาดออนไลน์ B2B สำหรับร้านอาหาร กล่าวว่า การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) มีหลายขั้นตอน เช่น การส่งใบเสนอราคา การออกบิล อีกทั้งร้านอาหารส่วนใหญ่จะเช็กสต็อกสินค้าหลังจากปิดร้านซึ่งเป็นช่วงกลางคืน จากนั้นจึงจะสรุปและจัดเตรียมรายการสินค้าเพื่อไปซื้อในเช้าวันต่อมา
ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลานาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างตลาดสดออนไลน์ในชื่อ Freshket ซึ่งไม่เพียงรวบรวมวัตถุดิบคุณภาพจากหลากหลายซัพพลายเออร์ไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ยังได้ออกแบบโปรแกรมหลังบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของซัพพลายเออร์และร้านอาหารแบบครบวงจร ด้วยการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สร้างเอกสารซื้อขายให้แบบอัตโนมัติ ช่วยลดข้อผิดพลาด ลดเวลา ขั้นตอนในการทำงานให้กับร้านค้า
“ผลตอบรับออกมาดี ทั้งคุณภาพ ความสม่ำเสมอและทันตามเวลาที่กำหนด ลดภาระต้นทุนในการสต็อกสินค้าให้กับร้านอาหารได้ เพียงแค่ทำการกดสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นก่อน 4 ทุ่ม เพื่อให้สามารถรับของได้ในวันถัดไป เมื่อทางทีมงานได้รับออร์เดอร์ก็ส่งใบสั่งซื้อ (PO) ไปยังซัพพลายเออร์ให้จัดส่งสินค้ามาให้เรา จากนั้นก็คัดของ แพ็คของและทำการจัดส่ง ลูกค้าตรวจรับสินค้าแล้วจึงจ่ายเงิน ขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6 โมงเช้า โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น” ตวงพลอย กล่าว