สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมรับมือ 'พายุปาบึก'

สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมรับมือ 'พายุปาบึก'

สจล. จัดตั้งศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ ติดตามความเคลื่อนไหว “พายุปาบึก” พร้อมที่พักพิงฉุกเฉินภายใน สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร แนะประชาชนเกาะติดสถานการณ์ผ่านแอพฯ “WMApp” ที่มีความแม่นยำและละเอียดสูง เตือน 15 จังหวัดภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนหนัก

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 62 ผศ.ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตร อุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานแถลงข่าว “เปิดศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉิน พร้อมการรายงานสดข้อมูลจากระบบพยากรณ์สภาพอากาศบน WMApp” ผ่านช่องทางถ่ายทอดสดจาก สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือความร้ายแรงพายุปาบึกว่า “เราได้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ได้รับการเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีพายุเข้ามาในเขตภาคใต้ ซึ่งเราได้ประสานงานกับทางจังหวัดชุมพร ใช้พื้นที่วิทยาเขตของสถาบัน ภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บริเวณชั้น 1-3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นศูนย์พักพิงในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน โดยได้เตรียมชุดเครื่องนอน หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน อาหาร น้ำ เครื่องสำรองไฟ และน้ำมัน ซึ่งอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 4 – 5 วัน สามารถรองรับประชาชนได้กว่า 500 คน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมเป็นศูนย์ประสานงานอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนจิตอาสา ติดตั้งศูนย์วิทยุ และกระจายหน่วยกู้ภัยไปยังจุดเสี่ยงในกรณีที่การสื่อสารล้มเหลว พร้อมเตรียมเยียวยาทางจิตใจหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป

เตือนประชาชนชายฝั่งควรอพยพ

ผศ.ดร. วัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากให้ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่มีจุดเสี่ยง มีชาวบ้านบางส่วนกำลังรอดูเหตุการณ์ ติดตามข่าวสาร และมีประชาชนบางส่วนเริ่มเข้ามาสอบถามเป็นระยะ ทั้งนี้ แถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลประทิว ซึ่งเคยเกิดภัยพิบัติรุนแรงมาแล้วในปี 2532 เราต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับในพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดชุมพร จุดเสี่ยงส่วนใหญ่คือชายทะเล ตั้งแต่พื้นที่ริมชายฝั่งตะวันออกทั้งหมด สำหรับพี่น้องประชาชน เราทราบดีว่าทุกคนเป็นห่วงทรัพย์สินไม่อยากออกมาจากที่พักอาศัย ซึ่งเราพยายามจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ออกมาจากพื้นที่มาอยู่ในที่ๆ ปลอดภัย โดยหลังจากนี้จะมีการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงอีกครั้ง โดยทุกหน่วยงานพร้อมให้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง”

ด้าน รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการเยียวยาประชาชนหลังจากนี้ว่า “ถึงแม้ว่าพายุจะเข้าที่นครศรีธรรมราช แต่วงรัศมีของพายุกว้างมาก ฝนจะตกหนักที่ชุมพรถึงวันที่ 5 อาจมีน้ำท่วม และดินสไลด์ เพราปริมาณน้ำเกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ประชาชนที่อยู่แถวลาดชัน เชิงเขา ควรอพยพออกจากพื้นที่ เพราะเรามีประสบการณ์ว่าหากไม่เตรียมความเสียหายจะมาก จะเห็นว่าในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ความเสียหายน้อยเพราะมีการตระเตรียม สำหรับในวิทยาเขตชุมพรเรามีทีมงานที่เข้มแข็ง เราประเมินว่าการระดมนักศึกษาจะเกิดขึ้นช่วงฟื้นฟู ในการซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชน พร้อมกันนี้ ทีมจากลาดกระบังก็เตรียมไปเสริมอีกแรงหนึ่ง สำหรับเฟส 2 ในการเยียวยา อาจมีการรับบริจาค แต่ต้องประเมินจากคืนนี้ก่อนว่ามีความเสียหายมากมายแค่ไหน ถ้าความเสียหายกว้างมาก เราอาจจะต้องรบกวนประชาสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องประชาชนด้วย

พร้อมรับมือพายุด้วย WMApp

ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม WMApp กล่าวว่า สำหรับระบบพยากรณ์อากาศ WMApp ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในปี 2556 และใช้จริงมากว่า 3 ปี สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ และมีความละเอียดสูงเป็นรายเขตปกครอง สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่หยดน้ำฟ้าจะตกควบคู่กับให้ผลพยากรณ์พายุหมุน (Cclone) ได้ล่วงหน้า 5.5 วัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟ และดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลกที่มีความถูกต้องแม่นยำที่สุด ที่สามารถประมาณค่าน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลก ให้ผลพยากรณ์เป็นชั่วโมง สามารถซูมอินดูได้ว่าเราอยู่ตรงไหน มีจำนวนฝนทั้งในอนาคตและปัจจุบันอย่างไร ปัจจุบันมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 1.5 แสนครั้ง สามารถใช้ได้ทั้งระบบ IOS และ Android

จากการที่เราได้ติดตามพายุปาบึก (Pabuk) ด้วยแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศความละเอียดสูง WMApp พบว่า พายุดังกล่าวก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีทิศทางเคลื่อนไปทางทิศตะวันตก ผ่านชายฝั่งทะเลมาเลเซีย และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยของไทยบริเวณจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ช่วงกลางดึกของวันที่ 3 มกราคม ก่อนจะเคลื่อนไปครอบคลุม 15 จังหวัดของภาคใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงมา ซึ่งอิทธิพลของพายุดังกล่าวทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่ นอกจากนี้อันตรายจากลมก็อาจเกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้าง

ผศ.ดร.ชินวัชร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในวันที่ 5 มกราคม เวลา 05.00 น. คาดว่าจุดศูนย์กลางของพายุปาบึก จะเคลื่อนไปทางตะวันตกของอันดามัน สำหรับการพยากรณ์ฝน ในวันที่ 5 มกราคม เวลา 01.00 – 06.00 น. จับตาฝนตกค่อนข้างหนักถึงหนักบริเวณนครศรีธรรมราช สมุย สุราษฎร์ธานี และชุมพร ถัดมาในช่วง 06.00 – 12.00 น. สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่ยังมีฝนบริเวณนครศรีธรรมราช สมุย สุราษฎร์ธานี และตอนล่างของประจวบคีรีขันธ์และอาจมีฝนค่อนข้างหนักถึงหนักบริเวรณชุมพร ต่อมาในช่วง 12.00 – 24.00 น. สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่ยังมีฝนบริเวณนครศรีธรรมราช สมัย สุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยฝนจากพายุนี้จะจางไปชัดเจนเกือบทั้งหมดหลังเที่ยงคืนของวันที่ 5 มกราคม”

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทางสจล. มีการลงนาม MOU กับทางฝนหลวง ส่งข้อมูลให้วันละ 4 ครั้ง ว่าตรงไหนมีสภาพอากาศที่เหมาะสมในการทำฝน เพราะจะทำฝนหลวงต้องมีสภาวะที่เหมาะสม ดังนั้น ข้อมูลของเราจึงเป็นข้อมูลหลักที่กรมฝนหลวงวางแผนปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ เรายังมีแอพพลิเคชั่น “Thailand Rain” ซึ่งคำนวณฝนได้แบบเรียลไทม์ผ่านระบบดาวเทียม ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มีประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเพราะสามารถใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การจะจัดงานในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อคำนวณฝนตก สามารถใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ใช่แค่ในส่วนของภัยพิบัติอย่างเดียว” ผศ.ดร.ชินวัชร์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประสบภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉิน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่ ‭077-506-410‬ แจ้งเหตุฉุกเฉิน ‭083-066-5373‬ เฟซบุ๊ก : kmitlnews หรือติดตามสภาพอากาศได้ที่ แฟนเพจ “สจล.พยากรณ์อากาศประเทศไทย”