มก.ปั้นเมนูสุขภาพ ส่งต่อเทสโก้โลตัส

มก.ปั้นเมนูสุขภาพ  ส่งต่อเทสโก้โลตัส

ชุดอาหาร 14 ชนิดและส่วนผสมอีก 2 ชนิด ผลผลิตนำร่องจากโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ที่ สวทน.มอบหมายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแกนนำ พร้อมงบสนับสนุน 30 ล้านบาท ส่งต่อ “เทสโก้โลตัส” ต่อยอดเชิงพาณิชย์

เดวิด เบียร์ดมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ สินค้าบริโภคบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเตม จำกัด หรือเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า นวัตกรรมอาหารเหล่านี้ไม่ได้อยู่เพียง 2,000 กว่าสาขาของเทสโก้โลตัสในไทย แต่ยังมีเครือข่ายทั่วโลกที่เป็นตลาดใหญ่และให้ความสนใจอาหารไทย ขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าต่างประเทศ ทั้งจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ ที่ให้ความสนใจอาหารไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารของไทยเช่นกัน

ปั้นนวัตกรรมอาหาร

คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารงบประมาณและแผนงานวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ สวทน. กล่าวว่า โครงการวิจัยเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลางมี ม.เกษตรฯ โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นศูนย์กลางวิจัยเครือข่าย ทำงานร่วมกับคณะประมง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมนักวิจัยกว่า 40 คนในโครงการ

 ผลการดำเนินงานในระยะแรก ปีงบประมาณ 2561 สามารถพัฒนาชุดอาหาร 14 ชนิด ประกอบด้วย อาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด และยังได้ผล้ตภัณฑ์เครื่องปรุงรส และส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด 

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ได้แก่ อาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ เป็นต้น

รศ. อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวว่า โครงการนี้เน้นการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพ ให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพและมีรสชาติที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีอาหารแปรรูปต่ำและ novel process เช่น เทคโนโลยีโอมิกส์ ไฮเพรสเชอร์ ไมโครเวฟ เอ็นแคปซูเลชั่น ฯลฯ ร่วมกับการใช้ของเหลือจากวัตถุดิบทางการเกษตรมาวิเคราะห์และสกัดสารอาหาร เพื่อนำกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มี

โครงการพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทสโก้ โลตัส ที่มีนโยบายพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพตอบเทรนด์ความต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตรงกับสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalised Foods) ของลูกค้ายุคใหม่

"ในส่วนของปี 2562 โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลางได้รับงบเพิ่มอีกกว่า 10 ล้านบาท จึงจะนำไปต่อยอด 14 ผลิตภัณฑ์ในปีแรก และเพิ่มใหม่อีก 6 โครงการ เราหวังจะสร้างแพลตฟอร์มอาหารเพื่อสุขภาพที่ครบความต้องการเฉพาะบุคคล โดยสุดท้ายปลายทางอาจจะเป็นตู้อาหารที่เพียงแค่ใส่ข้อมูลสุขภาพลงไป ก็ สามารถจัดเซ็ทอาหารคาว หวาน ที่เหมาะกับคนนั้นๆ เหมือนเบนโต๊ะ สำหรับโรงพยาบาลหรือโรงเรียน เป็นต้น”

เทสโก้ฯ ตอบเทรนด์โลก

"เทสโก้ฯมีทีมวิจัยที่ทำด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แต่หากสามารถร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อทำการวิจัยเชิงลึก ตอบนโยบายของเราที่มุ่งกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561ด้วย 3 ปัจจัยคือ ดีต่อสุขภาพ อร่อย ราคาเอื้อมถึง ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการผสานจุดแข็งด้านงานวิจัยของ ม.เกษตรฯ กับจุดแข็งด้านความเข้าใจตลาดของเทสโก้ฯ” เดวิด กล่าว

เบื้องต้น เทสโก้ โลตัสได้นำอาหารสุขภาพที่เป็นผลสำเร็จระยะแรกมาต่อยอด นำร่องที่นำสูตร “วาฟเฟิลกรอบ” ใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังทดแทนแป้งสาลี สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนมาพัฒนาเป็นสินค้า คาดว่าจะเปิดตัวภายใต้ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการร่วมพัฒนาอีก 3 ชนิด ได้แก่ เส้นโซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง, พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ และผลิตภัณฑ์โอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ยังเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว จาวมะพร้าว และใบหม่อน ทั้งยังช่วยลดการเกิดขยะอาหาร (food waste) โดยไม่จำเป็น

“นวัตกรรมเหล่านี้ยังต้องวิจัยต่อยอด ทั้งในเชิงของการอัพสเกลสู่ระดับอุตสาหกรรม การปรับรสชาติให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หรือบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นอีก 3 ผลิตภัณฑ์ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสามารถตอบเทรนด์อาหารของไทยและของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารปลอดสารก่อภูมิแพ้ อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกก็ให้ความสนใจเลือกสรรอาหารที่ดีกับสุขภาพของตนเองมากขึ้นเช่นกัน”