เทรนด์มาแรงพลาดไม่ได้...เทคโนโลยีดักจับก๊าซเรือนกระจก

เทรนด์มาแรงพลาดไม่ได้...เทคโนโลยีดักจับก๊าซเรือนกระจก

ทำความรู้จักเทคโนโลยีในการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีมาแรงจากการจัดอันดับในปีนี้ อีกหนึ่งความพยายามล่าสุดในการค้นคว้าของสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก นำเสนอข้อมูลโดย ดร.อดิสร  เตือนตรานนท์ นักเทคโนฯไทย

เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน หลังจากที่เราประสบกับวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  เราทุกคนเริ่มตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับเรามานาน ที่เราต่างได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม พายุโหมกระหน่ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราพยายามแก้ปัญหานี้มาหลายสิบปีก็ยังแก้ไม่ได้ นั่นก็คือปัญหาโลกร้อน  หนึ่งในสาเหตุของปัญหาโลกร้อนเกิดจากการที่บรรยากาศของโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น หนทางในการแก้ปัญหาโลกร้อน คือการหาเทคโนโลยีในการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้ลดลง  ที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงและมีราคาถูกในการดักจับคาร์บอนออกไซด์ในบรรยากาศ  ถึงแม้ว่าเราทุกคนในโลกจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse effect) ก็ยังคงจะอยู่กับเราเป็นพันปีนับต่อจากนี้ 

 

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของบรรยากาศโลก  คณะกรรมการด้านโลกร้อนของสหประชาชาติได้เสนอว่าเราต้อง กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านล้านตัน จากบรรยากาศของโลกภายในศตวรรษนี้ จากการที่เราปล่อยมันออกมาภายในเวลา 30 ปีที่ผ่านมา  ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard University สนับสนุนแนวคิดที่จะสร้างเครื่องจักรที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง (Direct air capture)  โดยมีต้นทุนน้อยกว่า 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (หรือประมาณ 3,000 บาทต่อตัน)  ซึ่งถูกกว่าวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถึง 10 เท่า จึงจะเป็นไปได้ในทางธุรกิจ และเมื่อเราดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้แล้วเราก็หาวิธีนำมันไปใช้ประโยชน์

 

ล่าสุดบริษัท Carbon Engineering ซึ่งมี Bill Gates เจ้าของบริษัท Microsoft เป็นผู้ร่วมลงทุน  ได้คิดที่จะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic fuel)  และอีกไอเดียหนึ่ง มีบริษัทที่สวิตเซอร์แลนด์ที่ชื่อว่า Climeworks ได้สร้างโรงงานที่อิตาลีเป็นโรงงานผลิตก๊าซมีเทนจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จากอากาศผสมกับก๊าซไฮโดรเจน สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง  นอกจากนี้ยังสามารถขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่บริษัทผลิตน้ำอัดลมได้อีกด้วย  อย่างไรก็ตาม ถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังอยู่ในรูปของก๊าซก็จะกลับสู่บรรยากาศ เราจึงต้องนำมันไปผสมเข้าไปในวัสดุ เช่น ไฟเบอร์ พอลิเมอร์ หรือคอนกรีต  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Arizona State University ได้คิดค้นเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่พอลิเมอร์โดยตรง เป็นแพของพอลิเมอร์ที่กางออกไปคล้ายม่าน เมื่อมีอากาศผ่านก็จะทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และดักจับไว้ในพอลิเมอร์ แต่เมื่อพอลิเมอร์นั้นไปโดนน้ำหรือความชื้นก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้น จึงออกแบบให้นำพอลิเมอร์ไปแช่ในถังน้ำและปล่อยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ในน้ำ

 

ล่าสุดเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศนี้เป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีมาแรง (Top Ten Breakthrough Technologies) ที่จัดอันดับกันในปี 2019    หวังว่าหน่วยงานให้ทุนวิจัยบ้านเราจะสนใจงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยลดปัญหาโลกร้อนกันบ้าง เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนไทยเราดีขึ้นกันบ้างครับ

*บทความโดย ดร.อดิสร  เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. และ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.