สจล.พัฒนาวิศวกรรมระบบราง ลดพึ่งพาต่างชาติ
สจล.ชูหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง และบุคลากรที่มีศักยภาพด้านระบบรางวิศวกรรมโยธา เครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของไทย
น.ส.ชลิดา อู่ตะเภา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานนิทรรศการ "ขุมทรัพย์ความรู้…รถไฟความเร็วสูง" โดยศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟ ความเร็วสูงของประเทศไทย (M2RC) สจล. จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค. 62 ที่ห้องโถงกลางอาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านระบบรางและระบบที่เกี่ยวข้อง ให้มีศักยภาพ เทียบเท่ามาตรฐานสากลหรือ ต่างประเทศ เพื่อลดการจ้าง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งนี้ภายในงานได้มีการบรรยายหัวข้อ เกี่ยวกับ “การตรวจสอบระบบ รางรถไฟความเร็วสูงด้วยวิธีการทดลองแบบไม่ทำลาย” ผลกระทบของรถไฟความเร็วสูงต่อระบบส่งจ่ายไฟฟ้า และ อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำในดินต่อ การใช้งานและความเสถียรของคันดินทางรถไฟ
น.ส.ชลิดา กล่าวว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สอดรับกับนโยบาย One belt One Road ของจีน โดยประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลาง เป็นรถไฟความเร็วสูง ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะขยายต่อจนถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟของลาว และจีนต่อไป
น.ส.ชลิดา กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายดังกล่าว สจล. ซึ่งมีพันธกิจ 3 ด้าน คือ สอน วิจัย และบริการวิชาการ ได้เห็นถึงความสำคัญ และต้องการที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานโครงการศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของไทย (M2RC) เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยมีการเรียนรู้จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ด้วยการถ่ายทอดและสร้างประสบการณ์จากการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สู่การพึ่งพาตนเองในอนาคตได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยศึกษาตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ซึ่งใช้กลไกทางพันธสัญญาในการจัดซื้อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเองในอนาคต
"จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กรณีของไทยจะมีความคล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซีย คือ สามารถนำลักษณะของ Offset Program มาใช้ในการบริหารโครงการ สิ่งสำคัญ สำหรับประเทศที่ไม่ได้สะสมองค์ความรู้ คือ จะต้องมีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่บริหารจัดการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร ประกอบกับนโยบายในการลงทุนและพัฒนาระบบรางของรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยการลงทุนก่อสร้างในระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การลงทุนก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง ทำให้ประเทศไทยต้องการกำลังคนที่มีทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรางตั้งแต่การวางแผนโครงข่าย การออกแบบด้านวิศวกรรม การวิจัย และผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบราง การก่อสร้างและติดตั้ง ทั้งด้านโยธา งานระบบราง การบำรุงรักษาทั้งระบบ ในโครงการรถไฟที่รัฐบาลจะลงทุน" น.ส.ชลิดา กล่าว
น.ส.ชลิดา กล่าวอีกว่า สจล.มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของไทย เนื่องจากมีการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมระบบราง มีบุคลากรที่มีศักยภาพด้านระบบรางวิศวกรรมโยธา เครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในด้านโครงสร้างพื้นฐานในงานโยธา ระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า รวมทั้งพื้นที่สถาบันมีความเหมาะสม เพราะตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟพระจอมเกล้า (สายตะวันออก) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ ซึ่งมีความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์หรือเครื่องมือหรือสินค้า ที่จะนำมาทดสอบระบบได้ และโครงการนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน.