นักรัฐศาสตร์ชี้อนาคตการเมืองไทย กลับสู่วังวนความขัดแย้ง-ม็อบ
หลังจากที่ทราบผลการนับคะแนน 100% เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา การแบ่งขั้วพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็เริ่มมองเห็นภาพชัดขึ้น
แต่ด้วยยังมีอีกหลายพรรคที่สงวนท่าที รวมถึงการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ยังต้องจับความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
นักวิชาการได้แสดงมุมมองที่แตกต่างกัน พร้อมคำชี้แนะเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการขับเคลื่อนประเทศว่าจะไปในทิศทางใด
นักวิชาการ ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ไชยันต์ ไชยพร” ชี้ไปที่ การประกาศผลคะแนนเลือกตั้งที่ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ ที่มีผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์ และประชาชนที่ยังไม่มั่นใจในการทำงานของ กกต.ที่มีข้อกังขา ข้อบกพร่องอยู่มากมาย ตั้งให้เป็นประเด็นเฉพาะหน้า
ผมเองยังกังวลใจกันประเด็นนี้ เพราะหากเราไม่สามารถผ่านพ้นมันไปได้อย่างเป็นที่ยอมรับร่วมกัน การเมืองไทยคงไปไหนต่อไม่ได้
“สูตรการคิดคะแนนบัญชีรายชื่อ” ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องกังวลเช่นกัน หากไม่สามารถทำให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ก็สามารถขยายความไม่พอใจ
อาจถึงขั้นการแสดงออกของจำนวนพลังประชาชนบนท้องถนน
สำหรับการชี้ว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังอีกยาวไกล เพราะเรายังต้องรอการประกาศรับรองผลคะแนน และต้องเป็นผลคะแนนที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ ฉะนั้น จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนิ่งเสียก่อน
ที่บอกกันว่า “ประยุทธ์” มาแน่ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะเรื่องนี้จะเกิดหลังการประกาศผลที่จะต้องมานั่งคุยกันอีก แต่ถึงตัวเลข ส.ส.จะนิ่ง การจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากตัวแปรพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงอย่าง ภูมิใจไทย(ภท.) หรือประชาธิปัตย์(ปชป.) ก็ยังไม่ชัดเจนถึงการเข้าร่วมกับฝ่ายใด
สิ่งสำคัญอยู่ที่ผลคะแนนที่ต้องอธิบายวิธีการคำนวณคะแนนเสียงประชาชนให้ได้มาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องให้ประชาชนสามารถมองเห็นถึงความโปร่งใส การเมืองจึงจะรอดพ้นเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้
หากการเลือกนายกฯ จากเสียงสนับสนุน ส.ว. มองเห็นชัดเจนถึงความไม่มีเหตุผล แม้การมี ส.ว.และสิทธิของส.ว. ถูกกำหนดแล้วจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ แต่หากเห็นชัดว่า ส.ว. ถูกจัดตั้งมาเป็นกระบวนการเพื่อเทคะแนนให้กับฝ่ายที่ไม่ได้เสียงเกินครึ่งในสภา เว้นเสียแต่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีเสียงเกินครึ่ง ดึงพรรคอื่นมาร่วมแล้วได้รับการเทคะแนนจากส.ว.อีก ก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะพรรคเพื่อไทย(พท.)เอง เคยออกมายอมรับฝ่ายที่มีเกิน 250 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ การที่ พปชร. จะรวมคะแนนให้ได้ 250 เสียงในสภาฯ ก็จะเกี่ยวโยงกับการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ซึ่งจะเผยถึงจำนวน ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ และแม้ว่า พปชร. จะมีเกิน 250 เสียงขึ้นไปแต่ พรรคอื่นที่จะมาร่วม ถูกประกาศออกมาแล้ว กลับมีคะแนนผุดขึ้นมาอย่างไม่มีความชอบธรรมอีก ทีนี้ ต่อให้ ส.ว.ที่จะเทคะแนนนั้นมีความชอบธรรม การประท้วงก็อาจเกิดขึ้นอยู่ดี
"ผมจึงให้ความสำคัญต่อการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องมาเป็นอันดับแรก” อ.ไชยันต์ ระบุ
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) “ยุทธพร อิสรชัย” ระบุ เป็นเรื่องยากมาก ที่จะคาดการณ์ว่าการเมืองฝ่ายใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ด้วยเสียงสนับสนุนของแต่ละขั้วมีลักษณะปริ่มน้ำ
ก่อนหน้านี้ เสียง พท. มีประมาณ 255 มากกว่า พปชร. แต่เมื่อประกาศผลคะแนนครั้งสุดท้าย ปรากฏว่า พปชร.มีเสียงที่มากกว่า สะท้อนภาพของคะแนนที่สามารถกลับไปกลับมาได้ตลอดเวลา ฉะนั้น การชี้ชัดว่าฝ่ายใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นเรื่องยาก หรือเมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องยากที่จะมีเสถียรภาพ หรือต่อให้มี ส.ว.มาเพิ่มจนมีเสียงสนับสนุนมากถึง 376 ก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งรัฐบาล และปัญหาหลักที่จะตามอีก คือ การคงอยู่ของรัฐบาลจะดำเนินไปอย่างไร หากเสียงในสภาฯ มีเกิน 250 เพียงเล็กน้อย
ที่สำคัญการเปิดเผยตัวเลขเมื่อปลายสัปดาห์ มีหลายพรรคการเมืองที่มี 1 เสียง หากพรรคเหล่านี้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดปัญหาเสถียรภาพอย่างมาก เพราะกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน บีบให้การร่วมกันของหลายพรรค ต้องแบกเสียงของแต่ละพรรคนี้ไปจนจบอายุสภา สุดท้ายการเมืองอาจเกิด “เดดล็อค”
สิ่งที่จะตามมา คสช.และรัฐบาล “ประยุทธ์” จะสามารถคงอยู่ต่อไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล มีแต่กรอบการประกาศผลเลือกตั้ง ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และการเปิดสภาฯ ภายใน 15 วัน หลังการประกาศรับรองผลคะแนนไม่น้อยกว่า 95%
ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลจึงทำไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญรัฐบาล คสช.จะคงอยู่ต่อไปในฐานะ “ตัวจริง” เสมอ
หากการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ตอบเจตจำนงของประชาชน หลังจากมีความกระตือรือร้นไปใช้สิทธิ ซึ่งปัจจุบันมีหลายกลุ่มอยากมีส่วนร่วม เช่น กลุ่มพลังนิสิตนักศึกษา ที่ห่างหายไปนานจากกระบวนการเลือกตั้ง และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายในสังคม ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลกลับกลายเป็นเรื่อง “คณิตศาสตร์การเมือง” มุ่งแต่จะบวก-ลบ-คูณ-หาร แลกเปลี่ยนโควตารัฐมนตรี เพื่อให้ได้ตัวเลขเกินกึ่งหนึ่งในสภา
สุดท้าย การเมืองในระบบรัฐสภาจะถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม กลายเป็นความล้มเหลวอีกครั้ง มีความเป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวนอกสภาฯ
ต่อให้รัฐบาล คสช.ที่ยังคงดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ในตอนนี้ จะสามารถควบคุมเหตุการณ์ไว้ได้ แต่ก็เพียงระยะสั้นๆ
ในระยะยาว หลังจากที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รวมกับประเด็นความบกพร่อง กกต.การล่าชื่อถอดถอน มีความเป็นไปได้ที่ประเด็นเหล่านี้จะขยายเป็นวงกว้าง แล้วพลิกสถานการณ์ให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง
สิ่งสำคัญวันนี้ เราคงต้องเรียกร้องให้ ส.ส.-ส.ว. เคารพในเจตจำนงของประชาชน คำนึงถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ลดเงื่อนไขคณิตศาสตร์การเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ แทนที่จะมุ่งเอาชนะคะคานจัดตั้งรัฐบาล
มันไม่ง่ายที่จะเรียกร้องให้การเมืองขั้วตรงข้าม หันมองปัญหาร่วมกัน แต่ในเมื่อบ้านเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ นักการเมืองเองในฐานะตัวแทนประชาชน ก็ควรหันมองจิตสำนึกตัวเองให้เยอะ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยกับความขัดแย้งจะกลับมาเข้าสู่วังวนเดิม.
000
“การเมืองบนความยุ่งยาก”ยุคข้อมูลบนความเคลือบแคลง
ขณะที่ อาจารย์ “ธเนศวร์ เจริญเมือง” นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) มองว่า สังคมเวลานี้ เป็นสังคมที่ข้อมูลข่าวสารเดินทางเร็ว ฉะนั้นเมื่อมีเรื่องแปลก ไม่มีการชี้แจง หรือชี้แจงแล้วไม่เคลียร์ ทำให้เกิดสภาวะไม่สบายใจในหมู่ผู้คนในสังคม เกิดความรู้สึกขุ่นข้องเรื่อยไป จนรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ จะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
ยกตัวอย่าง ผลคะแนนเลือกตั้ง ที่มีข้อสังเกตว่า คะแนน พปชร. มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มองได้ถึงความมุ่งมั่น ความพยายามจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความพยายามก้าวสู่ตำแหน่ง ที่ถือเป็นรายที่สอง นับจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในความพยายามกลับคืนสู่อำนาจ เมื่อปี 2535
เพียงแต่การเมืองยุคปัจจุบันมีความสงบเรียบร้อยกว่าในอดีต และวิธีการกลับมาก็มีความนุ่มนวล แนบเนียนกว่าอดีต นั่นคือ การใช้หนทางเลือกตั้ง และดูเหมือนส่วนหนึ่งของสังคมให้การยอมรับมากกว่าผู้มีอำนาจในอดีตที่มีการต่อต้านในทันที
สำหรับอนาคตเชื่อว่า การเมืองไทยจะชักคะเย่อกันต่อไป บนเส้นทางอันขรุขระของการเมืองที่ไม่ปกติ โดยกลุ่มที่มีความพยายามมากกว่า ย่อมได้รับการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่อีกฝ่ายต้องพยายามต่อต้าน
แต่สิ่งสำคัญกลับอยู่ที่ กกต. ที่ต้องเคลียร์ข้อสงสัยต่างๆ ให้ได้เท่านั้น เพราะหากตอบไม่ชัด การเมืองไทยก็จะอยู่บนความเคลือบแคลงกันต่อไปจนทำให้สังคมจากนี้ไป จะเป็นปีแห่งความยุ่งยากของการเมืองไทย มีความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่สามารถลงรอยกันได้จนมองหน้ากันไม่สนิท
ทั้งๆ ที่บางเรื่องสามารถแก้ไขได้ แต่ก็ไม่สะสาง เช่น ปัญหาบัตรเลือกตั้ง นิวซีแลนด์ ทั้งที่ประชาชนอุตสาห์ไปลงคะแนน ทำตามกติกาทุกอย่าง และยืนยันกันแล้วว่าการส่งบัตรไม่ดีเลย์ แต่ก็ไม่พยายามพูดคุยกัน เพราะแทนที่จะบอกว่า จะมองไปที่กฎหมาย กฎเกณฑ์บางอย่างที่มันดูไม่ถูกต้องนั้น จะแก้ไขอะไรได้บ้าง กลับไปอธิบายว่า ไ่ม่ใช่บัตรเสีย แต่นับคะแนนไม่ได้ แล้วปล่อยให้เรื่องคาราคาซัง
ส่วนเหตุที่ใช้คำว่า “การเมือง” แทนคำว่า “รัฐบาล” ก็เพราะโอกาสเกิดรัฐบาล ไม่อาจยืนยันได้ เพราะหากแรงต้านที่มีอยู่ในขณะนี้เพิ่มขึ้น การเลือกตั้งก็อาจเป็นโมฆะได้ โดยเฉพาะเสียงค้านของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาจากความตั้งใจที่เห็นได้ชัดเจน
แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะถูกอบรมจากคนรุ่นเก่าให้เคารพกติกา แต่ในเมื่อกติกาบางเรื่องไม่ชัดเจน แม้แต่เรื่องง่ายๆ ฉะนั้น คำถามที่เหลือ คือ การคัดค้านจะดำเนินไปอีกนานเพียงใด
คำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” ที่ระบุถึงการคงอยู่ของ “ประยุทธ์” จะดำเนินต่อไป หากการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ ยิ่งตอกย้ำคำว่า “การเมืองบนความยุ่งยาก” ที่จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีสาเหตุจากความดื้อรั้นของใครบางคน แต่เพราะเราทุกคนกำลังอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสาร ที่ปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องทำให้เคลียร์
000
ไม่มีขั้วการเมืองใดชนะขาด รัฐบาลอนาคต“ไร้เสถียรภาพ”
ส่วน “พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ระบุ เมื่อมองอนาคตประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสที่เราจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพยาก ด้วยสภาพการเมืองไทยที่แบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว และแต่ละขั้วมีประชาชนให้การสนับสนุนในจำนวนที่ไม่ต่างกัน ไม่มีทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด
สำหรับโครงสร้างทางอำนาจในประเทศไทย มีอย่างน้อยจาก 3 ขั้วหลักๆ 1.คนรุ่นเก่าที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ชื่นชมจารีตสังคมไทย คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 7-8 ล้านคน จากเสียงที่สนับสนุน “ประยุทธ์” 2.คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดเสรีนิยม ประมาณ 5-6 ล้านคน จากเสียงสนับสนุน อนค. และ3.ชาวบ้านทั่วไปและที่อยู่ในชนบท ที่อาจไม่มีอุดมการณ์อะไร แต่มองหาโอกาสของการชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีเสียงกระจายในหลายๆ พรรค
แต่ยังมีอีกกลุ่มที่สามารถสร้างปัญหาได้ คือ กลุ่มสุดขั้ว ทั้งจากฝ่ายอนุรักษ์ หรือฝ่ายเสรีนิยม
ทั้งนี้ความขัดแย้ง ไม่น่าจะขยายตัวสู่การชุมนุมบนท้องถนนอีก หลังจากสังคมผ่านประสบการณ์และได้รับบทเรียนกันมามากพอสมควร แต่เป็นไปมากที่จะพบสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์
สิ่งที่ประชาชนทำได้ เพียงทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี ไม่ออกความเห็นด้วยอารมณ์ที่รุนแรง เพราะจากสภาพการเมืองที่คานดุลอำนาจกันหลายฝ่าย การมุ่งเอาชนะคะคานกันมากเกินไป มีแต่จะทำให้การเมืองยิ่งชะงักงัน ดังนั้น เราควรปล่อยให้ผู้กุมอำนาจดำเนินและติดตามกัน หากการเมืองเดินต่อไปไม่ไหวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก จากการเลือกตั้งในครั้งต่อไป