ถอดบทเรียน ‘สิงคโปร์’ ใช้ไม้แข็งสู้ 'ไวรัสโคโรน่า'

ถอดบทเรียน ‘สิงคโปร์’ ใช้ไม้แข็งสู้ 'ไวรัสโคโรน่า'

สำรวจวิธีการจัดการยับยั้งการแพร่ระบาดของ "COVID-19" ของ "สิงคโปร์" ที่ทั้งเข้มข้น จริงจัง จนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ช่วงที่โลกกำลังแข่งขันกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีในการตรวจหาและสกัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศอื่นๆ คำตอบสำหรับแก้ปัญหาการแพร่ระบาดอาจไม่ง่ายแค่ “ทำแบบเดียวกับที่คนสิงคโปร์ทำ” ก็เป็นได้

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า จากข้อมูลเมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.) สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 130 คน จากทั่วโลกราว 1 แสนคน ผู้ป่วย 82 คนกลับบ้านได้แล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยสักคนเดียว

การออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างระมัดระวังของกระทรวงสาธารณสุขได้ผลเพราะข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มาตรฐานทางการแพทย์สูงและสามารถออกมาตรการเข้มงวดได้โดยไม่มีการต่อต้าน

ปลายเดือนก่อนรัฐบาลเพิกถอนสถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวรของชายวัย 45 ปีคนหนึ่ง เพราะฝ่าฝืนคำสั่งให้อยู่บ้าน

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเผยว่า ชายคนนี้เพิ่งกลับมาจากจีน ศูนย์กลางการแพร่ระบาด จึงต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่เขาไม่รับโทรศัพท์และไม่อยู่บ้านตอนที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจ ตอนนี้ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศ

“บางคนบอกว่าทำแบบนี้รุนแรงเกินไป ช่วงนี้เราจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ประชาชนต้องรู้ว่าเราไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด” เค ชานมูกัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ค

ชายคนนี้เพิ่งกลับมาจากจีน จึงต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่เขาไม่รับโทรศัพท์และไม่อยู่บ้านตอนที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจ ตอนนี้ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศ

ชาวจีน 2 คน ที่คนหนึ่งติดเชื้อยืนยันแล้ว อีกคนเป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดก็ถูกดำเนินคดีฐานแจ้งข้อมูลสถานที่เท็จตามกฎหมายโรคติดเชื้อของสิงคโปร์ด้วย

ยูจีน ตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ กล่าวว่า สาธารณชนดูเหมือนไม่คัดค้านแนวทางเข้มงวดแบบนี้

“แม้แต่มาตรการที่ประเทศอื่นอาจมองว่ารุนแรง ก็มีความชอบธรรมในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์เชื่อมั่นและไว้ใจการจัดการการแพร่ระบาดของรัฐบาล ทำให้พลเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้ความร่วมมือ การร่วมแรงร่วมใจกันทั้งสังคมแบบนี้ยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้สิงคโปร์มีพลังต้านภัยคุกคามร่วมกันได้”

หัวใจสำคัญของแผนสู้ไวรัสโคโรน่าคือสิ่งที่ทางการเรียกว่า “การติดตามผู้ติดต่อ” ตรวจสอบว่าผู้ป่วยไปไหนบ้างเพื่อหาคนที่อาจติดเชื้อรายต่อไปโดยอาศัยความร่วมมือของตำรวจ

ระบบนี้ประกอบด้วยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย โทรหาคนที่ผู้ป่วยติดต่อสัมผัส หรือแม้แต่รวบรวมข้อมูลการเดินทางของผู้ป่วยจากผู้ให้บริการขนส่งคมนาคม

หัวใจสำคัญของแผนสู้ไวรัสโคโรน่า คือ สิ่งที่ทางการเรียกว่า “การติดตามผู้ติดต่อ” ตรวจสอบว่าผู้ป่วยไปไหนบ้างเพื่อหาคนที่อาจติดเชื้อรายต่อไปโดยอาศัยความร่วมมือของตำรวจ

นอกจากนี้สิงคโปร์ไม่รีรอปิดรับนักเดินทางจากจีน ห้ามผู้ที่มาจากแดนมังกรเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.

มาตรการแข็งกร้าวดังกล่าวทำให้ถึงขณะนี้รัฐบาลไม่ต้องปิดโรงเรียนและธุรกิจร้านค้าเป็นวงกว้างเหมือนที่หลายประเทศทำ พร้อมกันนั้นสิงคโปร์ก็ได้รับเสียชมเชยหนาหู

“สิงคโปร์ทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหา ตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบทุกราย” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าว

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่เมื่อกลางเดือน ก.พ. ระบุ ถ้าทุกประเทศมีความสามารถตรวจจับได้เหมือนสิงคโปร์ โลกจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2.8 เท่า 

แต่แน่นอนใช่ว่าทุกประเทศจะมีความสามารถเช่นนั้น เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ สิทธิของปัจเจกชน หรือขาดความเชี่ยวชาญ 

แม้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าเอื้อให้ไวรัสเข้ามาแล้วแพร่กระจาย แต่ด้วยความเป็นประเทศเล็กเพียง 720 ตารางกิโลเมตร ประชากร 6 ล้านคน อีกทั้งปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวมาตั้งแต่ได้เอกราชในปี 2508 สิงคโปร์จึงสร้างตนเองเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย พร้อมๆ กับการควบคุมอย่างเข้มงวด

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่เมื่อกลางเดือน ก.พ. ระบุ ถ้าทุกประเทศมีความสามารถตรวจจับได้เหมือนสิงคโปร์ โลกจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2.8 เท่า 

ตอนที่ซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 สิงคโปร์มีผู้เสียชีวิต 36 คน แต่ก็ให้ประสบการณ์อันมีค่าต่อรัฐบาลในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อ ผสมผสานกับความเต็มใจแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว ที่บางประเทศอาจไม่เต็มใจทำแบบนี้

ครั้นโควิด-19 ระบาด ทางการเปิดเผยข้อมูลมากมายเกี่ยวการติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยพักที่ไหน ทำงานที่ไหน ไปไหนบ้าง และเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อคนอื่นหรือไม่

“การรับมือโควิด-19 ของสิงคโปร์ตั้งอยู่บนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการวิจัยทางการแพทย์ การรับมือจึงสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพ ไม่มีการขอโทษสำหรับมาตรการเข้ม เช่น ห้ามเข้าสังคม ปันส่วนหน้ากาก บังคับกักตัว และสั่งให้อยู่บ้าน” ตัน กล่าวโดยหมายถึงคำสั่งห้ามประชาชนจำนวนมากรวมตัวกัน และการที่รัฐบาลส่งหน้ากากอนามัยให้ครัวเรือนละ 4 ชิ้น

กระนั้น มาตรการสกัดไวรัสโคโรน่าของสิงคโปร์ก็มีมุมเบาๆ ด้วย เมื่อเช้าวันศุกร์ ทางการแถลงข่าวจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขอนามัยให้ดียิ่งขึ้น เช่น ใช้ช้อนกลางตักอาหาร นำถาดมาคืนเมื่อรับประทานอาหารในโรงอาหาร

รัฐบาลใช้ช่องทางวอทส์แอพบอกข่าวพัฒนาการล่าสุดให้ประชาชนทราบ ลงโฆษณาหน้า 1 บนหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทม์ส แจ้งให้ผู้อ่านที่มีอาการป่วยเล็กน้อยไปพบแพทย์

พร้อมกันนั้นรัฐบาลใช้ช่องทางวอทส์แอพบอกข่าวพัฒนาการล่าสุดให้ประชาชนทราบ ลงโฆษณาหน้า 1 บนหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทม์ส แจ้งให้ผู้อ่านที่มีอาการป่วยเล็กน้อยไปพบแพทย์ แล้วไม่ต้องไปทำงานหรือไปโรงเรียน รวมทั้งขอให้ประชาชนยกย่องและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในฐานะ “ฮีโร่แนวหน้า” รับมือวิกฤติ คนเหล่านี้จะได้รับโบนัสพิเศษ 

อีกด้านหนึ่งคณะรัฐมนตรีลดเงินเดือน 1 เดือน เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้าย

แต่ไม่มีมาตรการใดที่ไม่มีผลทางลบ ตอนที่รัฐบาลประกาศยกระดับเตือนภัยจากสีเหลืองเป็นสีส้ม หรือสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. จุดประกายให้ประชาชนตื่นตระหนกแห่กันไปซื้อกระดาษชำระและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จนนายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง ต้องแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ “ความกลัว อันตรายยิ่งกว่าไวรัส”

ตอนนี้ทางการสิงคโปร์รู้ดีว่า อีกนานกว่าสงครามกับไวรัสจะจบสิ้นลง เมื่อวันศุกร์พบผู้ติดเชื้อใหม่ 13 ราย สูงสุดใน 1 วัน ถ้าการติดเชื้อยังเพิ่มสูงต่อไปก็คงเกินกำลังที่รัฐบาลจะใช้วิธีติดตามผู้ติดต่อ

ลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชาติ กล่าวเมื่อวันอังคาร (3 มี.ค.) ว่า รัฐบาลพยายามหาวิธีอื่นหยุดยั้งการแพร่ระบาด เพื่อไม่ต้องปิดประเทศที่เขามองว่า ป้องกันไม่ได้

 “เราต้องเตรียมใจว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสิงคโปร์อาจพุ่งขึ้นมาก เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ”