ระวัง!! ติดโควิด-19จากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะหนุ่มสาวที่เริ่มเป็นและอาการดีขึ้น
โฆษกศบค.ห่วงผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ช่วงเริ่มต้นหรืออาการดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้ ย้ำต้องตรวจหาให้เจอ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ที่ไม่มีอาการสามารถเดินไปมาได้ ไม่ได้อยู่บ้านทำให้กลายเป็นพาหะนำโรค
วันนี้ (29 มีนาคม) นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่ามีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 111 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบรายใหม่ 143 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 ราย และ กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย
สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต สรุปวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 111 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิต 7 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย
“ผู้ป่วยที่เสียชีวิต มีประเด็นว่าอาการไม่เข้าข่ายในช่วงแรก ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในขณะนี้ คือ ผู้ป่วยบางรายอาการครบ แต่ไม่เยอะ ซักประวัติเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ว่าไปพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ รวมถึงตอนนี้มีเคสเยอะมาก เคสแต่ละเคสมีการซักถามแต่ละรายเยอะ ตอนแรกอาจไม่เข้าข่าย มาอีกทีอาการหนัก เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย อีกหนึ่งปัญหาในบ้านเราว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล ไม่รู้ไปติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงมา หรือไม่แน่ใจ ดังนั้น คนไข้ก่อนไป โรงพยาบาลอาจจะต้องซักตัวเอง ว่าตัวเองไปไหนมาบ้าง เพราะบางครั้งไปพบแพทย์ อาจจะเพราะตื่นเต้นหรือกลัวเป็นโรค จนทำให้บอกไม่ครบถ้วน” นายแพทย์บัญชา กล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยรายหนึ่งที่ยังมีเชื้อและได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน นายแพทย์บัญชา ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และ ส่วนภูมิภาค ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมโรงพยาลศูนย์สำหรับผู้ป่วยหนัก และโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก เช่น ภูเก็ต ใช้พื้นที่ศาลากลาง ซึ่งกระทรวงสาธารณะสุข ได้แจ้งไปยังทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เริ่มหายกลับไปบ้าน เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปให้คนในครอบครัว
“บางที่อาจจะไม่มีโรงพยาบาลสนาม แพทย์ต้องกำชับผู้ป่วยว่า หากกลับไปแล้วต้องกักตัวเอง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ไปที่อื่น ขณะเดียวกัน คนไข้หากไม่แน่ใจว่าตัวเองป่วยหรือเสี่ยงหรือไม่ เช่น บางคนไม่มีอาการ กลับจากกทม. และไปชนบท ต้องแยกไม่ควรคลุกคลีกับคนในบ้านถึงแม้ไม่มีอาการ หรือบางคนมีอาการไอ ไข้ แต่ไม่มีประวัติสัมผัสกลุ่มที่มีเชื้อ ขอแนะนำให้แยกไว้ก่อน สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องตระหนักว่า มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ เว้นระยะหว่างทางสังคม ถึงแม้จะไม่ป่วย ก็มีความเสี่ยง ต้องพยายามเลี่ยงที่สุด”
“ยืนยันว่า ยังควบคุมคนไข้เหล่านี้ ให้พักรักษาที่โรงพยาบาลรัฐที่สำรองไว้ให้ และต้องยอมรับที่ผ่านมาอาจมีการหลักหลั่นบ้าง ในบางรายที่อยู่ในภูมิภาคที่ยังไม่มีโรงพยาบาลสนาม และ ในรายที่รอผลยืนยันเชื้อและต้องกลับไปรอผลที่บ้านเพราะโรงพยาบาลมีความแออัด และมารู้ทีหลังว่ามีเชื้อ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ป่วยและยังไม่หายดีต้องมาพักที่โรงพยาบาลที่สำรองไว้” นายแพทย์บัญชา กล่าว
นายแพทย์ ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากจะให้มั่นใจว่า ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านไม่มีอาการแล้ว และต้องดูสภาพของบ้านผู้ป่วยว่า สามารถกลับไปได้ เพื่อให้การแพร่โรคต่ำสุด หากกลับบ้านและมีความกังวล และทางการแพทย์ก็มีแนวทางปฏิบัติให้ หากคนไข้ที่กลับบ้านยืนยันว่าไม่มีเชื้อทางบ้านไม่ต้องกังวล เพราะเขาจะไม่แพร่เชื้ออีก ใช้ชีวิตปกติได้ แต่ก็ต้องมีช่วงเวลาในการแยกต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นเหตุผลว่าทางภาครัฐ พยายามจะหาที่พักให้สำหรับคนไข้อาการน้อยๆ และมีสภาพบ้านไม่เหมาะต่อการรักษาตัวที่บ้าน ต้องได้รับการดูแลในสถานที่อีกลักษณะหนึ่ง เช่น โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ในส่วนผู้ป่วยที่อาการวิกฤตจำนวน 17 ราย 50% เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 4.7 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) จึงขอให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ขอให้อยู่ในเคหะสถานหรือสถานที่พัก อยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก และเมื่อมีอาการป่วย มีไข้ ไอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิต
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า จากผู้ป่วยสะสมยืนยัน 1,388 ราย เป็นคนไทย 1,172 ราย และ ต่างชาติ 216 ราย ภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ในพื้นที่กทม. 641 ราย ภาคใต้ 82 ราย ปริมณฑล 135 และพื้นที่อื่นๆ 530 ราย เป็นผู้ชายมากกว่าหญิง กว่า 61% โดยผู้ป่วย 18.4% มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องตรวจหาพวกเขาให้เจอ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เพราะคนที่ไม่มีอาการสามารถเดินไปมาได้ ไม่ได้อยู่บ้านทำให้กลายเป็นพาหะนำโรค
สำหรับแนวโน้มผู้ป่วยสะสมจะเห็นว่า กราฟยังมีทิศทางที่พุ่งขึ้นตลอด จากการวิเคราะห์พบว่า เราเริ่มพบผู้ป่วยจากสนามมวยและสถานบันเทิง ทำให้ตัวเลขเริ่มจะสูงขึ้นจากหลักสิบสู่หลักร้อย หลังจากนั้น มีการค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วย และจากการเข้าพิธีทางศาสนา ที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการประกาศปิดสถานบริการของกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับต่างจังหวัด รวมถึงแรงงานต่างชาติ ทำให้ตัวเลขขยับพุ่งขึ้นสูง
“เรื่องเหล่านี้ทำให้เราต้องรับสถานการณ์ร่วมกัน ต้องไม่กล่าวโทษใคร และเรียนรู้จากการที่ดำเนินการมา เราจะช่วยกันอย่างไร ตอนนี้มีการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน เมื่อไม่กี่วัน แน่นอนว่าผลของการติดเชื้อต้องใช้เวลา 5-7 วัน หากทุกคนให้ความร่วมมือ ต้องสามารถเห็นผลภายใน 7 วัน เราต้องช่วยกันทำให้ผู้ป่วยสะสมลดลงมาด้วย รัฐบาลฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ แต่ประชาชนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน”
นายแพทย์ธนรักษ์ อธิบายว่า เนื่องจากจำนวนคนไข้ แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการจะยิ่งน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย หากไปดูเอกสารทางวิชาการ ในเด็กจะพบว่ามีอาการไข้ไม่ถึงครึ่ง และอาการอื่นๆ มักจะเบา ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสใดๆ จบเร็ว หายเร็ว มากกว่าคนที่มีอายุมาก
“ทุกวันนี้เรารับคนไข้ในโรงพยาบาลแม้อาการเบา ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ทั้งหมด แต่เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อของผู้ที่มีอาการน้อยๆ ด้วย เพราะ คนไข้อาการน้อยแพร่เชื้อได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นหรือตอนที่อาการดีขึ้น สำหรับคนไข้ที่ไม่มีอาการเลยตลอดการติดเชื้อ จนหายเป็นปกติ มีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่น้อยมาก เพราะเชื้อมาจากน้ำลาย ถ้าน้ำลายไม่ออกมา โอกาสแพร่เชื้อก็น้อยมากตามไปด้วย”