‘ททท.’ เปิดรายได้สะพัด ‘สงกรานต์ 64’ โควิดระลอก 3 ฉุดเหลือ 9,670 ล้านบาท!
สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 6 วัน ระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย.2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สรุปภาพรวมว่าบรรยากาศซบเซาลงไปมากเมื่อเทียบกับปีปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19!
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 จากกลุ่มคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยลดลง เหลือเพียง 2.68 ล้านคน-ครั้ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 16% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ของกระทรวงคมนาคมที่มีผู้ใช้บริการด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่ำกว่าประมาณการ 39.36% มีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯต่ำกว่าประมาณการ 25.68% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลคิดเป็น 95.25% ของปริมาณการเข้าออกกรุงเทพฯ
“ขณะที่การใช้จ่ายน้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีรายได้หมุนเวียนทางการท่องเที่ยวประมาณ 9,670 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 19% และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 25%”
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นับเป็นการระบาดที่รวดเร็วและแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้างต่อเนื่องไปยังหลายจังหวัด ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมและป้องกันด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ และขอความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนงดหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก ขณะที่บางจังหวัดออกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพฯและปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐไม่มีการประกาศล็อคดาวน์หรือเคอร์ฟิว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ก็มีประชาชนบางส่วนไม่มั่นใจ! มีความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ต่างพากันชะลอการเดินทางและยกเลิกห้องพักหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน จากข้อมูลการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่ามีประชาชนยกเลิกและคืนตั๋วโดยสารรถไฟ 18% ขณะที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีการคืนตั๋วรถโดยสารปรับอากาศ 44%
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่คนไทยนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา และถือโอกาสใช้วันหยุดยาวเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนร่วมกับครอบครัว ทำให้ในภาพรวมยังคงได้เห็นบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น คือ 33%, 32% และ 30% ตามลำดับ
โดยการเดินทางท่องเที่ยวของภาคกลางและภาคตะวันออก คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป “ไม่นิยมเดินทางระยะไกล” ในช่วงดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่น และอุบัติเหตุบนท้องถนน ประกอบกับ “ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศ” ที่มีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย สำหรับจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และจันทบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ มีการใช้จ่ายไม่สูง และเน้นท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติเป็นหลัก
ด้านการเดินทางระยะไกลสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นหลัก และใช้โอกาสนี้เดินทางท่องเที่ยวด้วย สำหรับ “ภาคใต้” ถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก และยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยเพิ่มขึ้น!
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งพบว่าในช่วงวันหยุดสงกรานต์มีคนไทยไปใช้สิทธิที่พักในพื้นที่ภาคใต้เป็นอันดับ 3 จาก 5 ภูมิภาค ส่วนใหญ่เข้าพักในพื้นที่กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ชุมพร และตรัง นอกจากนี้การจัดทำโปรโมชั่นราคาที่พักของผู้ประกอบการผนวกกับแพ็คเกจสายการบินภายในประเทศ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีส่วนกระตุ้นให้คนเดินทางเข้าพื้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 24%
ขณะที่ “ภาคเหนือ” เป็นภูมิภาคที่มีคนเดินทางเข้าพื้นที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 18% คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากการพบการติดเชื้อในพื้นที่เชียงใหม่เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในสถานการณ์ ประกอบกับในช่วงเทศกาลสงกรานต์จังหวัดเชียงใหม่ออกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของจังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตัดสินใจหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้ และนักท่องเที่ยวบางส่วนได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปพื้นที่อื่นแทน