รู้จัก 'สุนิสา ลี' ฮีโร่เหรียญทอง 'โอลิมปิก2020' เชื้อสายม้งอเมริกันคนแรก

รู้จัก 'สุนิสา ลี' ฮีโร่เหรียญทอง 'โอลิมปิก2020' เชื้อสายม้งอเมริกันคนแรก

"โอลิมปิก2020" ทำความรู้จักประวัติที่ไม่ธรรมดาของ "สุนิสา ลี" นักกีฬายิมนาสติกหญิงดาวรุ่งเชื้อสาย "ม้งอเมริกัน" คนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในนามทีมชาติสหรัฐ สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชนม้งทั่วโลก โดยเฉพาะในรัฐมินนิโซตา บ้านเกิดของเธอ

ในขณะที่สายตานับล้านคู่จับจ้องไปที่ สุนิสา ลี นักกีฬายิมนาสติกหญิงดาวรุ่งวัย 18 ปี ซึ่งมีเชื้อสายม้งอเมริกัน ในการเเข่งขันโอลิมปิก2020 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ครอบครัวของเธอที่รัฐมินนิโซตา กำลังลุ้นอย่างเต็มที่เช่นกัน จนกระทั่งได้สมหวังในที่สุด

สุนิสา สร้างชื่อให้กับตัวเองและทีมสหรัฐ หลังคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์มาครองได้สำเร็จ ในฐานะตัวแทนของสหรัฐเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งคนแรกที่คว้าเหรียญทองให้กับทีมสหรัฐ

162758982985

นี่ถือเป็นฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่องของนักยิมนาสติกสาวดาวรุ่ง โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน สุนิสาคว้าเหรียญเงินกับให้กับทีมชาติสหรัฐในการแข่งขันยิมนาสติก ประเภททีมรวมอุปกรณ์

ก่อนเปิดฉากโอลิมปิกครั้งนี้ สุนิสาถือเป็นความหวังของครอบครัวและชุมชนชาวม้งในสหรัฐ ในฐานะนักยิมนาสติกหญิงอายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

162758983091
- สุนิสากอดฉลองกับโค้ช หลังคว้าเหรียญทองเหรียญแรก (29 ก.ค.) -

เกิดและโตในมินนิโซตา

สำหรับประวัติของสุนิสาถือว่าโดดเด่นและน่าสนใจไม่น้อย เธอเกิดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2546 ในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนม้งขนาดใหญ่ในอเมริกาที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคหลังสงครามเวียดนาม และสุนิสาก็ใช้ชีวิตเติบโตในเมืองเซนต์พอลมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากรัฐมินนิโซตาจะเป็นถิ่นฐานขนาดใหญ่ของชาวม้งในสหรัฐ ซึ่งคาดว่ามีประชากรถึง 80,000 คนแล้ว ยังเป็นที่ที่แม่ของสุนิสาได้พบรักกับพ่อบุญธรรมขณะสุนิสาอายุเพียง 2 ขวบในปี 2548 ด้วย

รูปภาพ
- ฮัว จอห์น ลี (ซ้าย) พ่อบุญธรรม และ ยีฟ ทอจ (กลาง) แม่บังเกิดเกล้าของสุนิสา -

แม่ของสุนิสาเป็นชาวม้งชื่อ ยีฟ ท่อ (Yeev Thoj) และพ่อบุญธรรมเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายม้งเช่นกัน ชื่อ ฮัว จอห์น ลี (Houa John Lee) ซึ่งคอยเลี้ยงดูสุนิสาตั้งแต่เด็ก ๆ และเมื่อโตขึ้น สุนิสาก็ตัดสินใจใช้นามสกุล ลี ตามพ่อบุญธรรม

แม้ว่าจอห์น ลี มีลูกติด 2 คนจากอดีตภรรยาชื่อว่า โจนาห์และไชเอนน์ แต่ลูก ๆ ทั้ง 3 คนรวมถึงสุนิสา ต่างรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะไชเอนน์ที่อายุห่างกับสุนิสาเพียง 12 วัน มีหน้าตาคล้ายกับสุนิสาจนเพื่อนร่วมชั้นเรียนเคยเข้าใจผิดว่าทั้งคู่เป็นฝาแฝด

ลี้ภัยสงครามข้ามแปซิฟิก

ทั้งพ่อบุญธรรมและแม่ของสุนิสาต่างเกิดในลาวในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งสมัยนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ม้งร่วมรบเคียงไหล่กับทหารอเมริกันในลาว แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย

มีชาวม้งหลายหมื่นคนเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม หรือถูกรัฐบาลลาวสังหาร หลังจากกองทัพสหรัฐถอนทัพกลับประเทศ

ครอบครัวชาวม้งของพ่อและแม่สุนิสาสมัยที่ทั้งคู่ยังเด็ก เสี่ยงอันตรายหนีออกจากลาวข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนลี้ภัยไปตั้งรกรากในในรัฐมินนิโซตาและเติบโตที่นั่น

"เมื่อสหรัฐถอนทัพออกจากลาว สงครามยังไม่จบลงในทันที" จอห์น ลี พ่อบุญธรรมสุนิสาเล่าถึงความทรงจำอันขมขื่น "ผู้คนจำต้องหนีไปประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย และเพื่อโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่า"

จนกระทั่ง จอห์น ลี ย้ายไปอยู่สหรัฐตอนอายุ 7 ปี เมื่อปี 2522 ส่วนแม่สุนิสาย้ายไปสหรัฐตอนอายุ 12 ปี เมื่อปี 2530

ปัจจุบัน ยีฟ เเม่ของสุนิสา ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยด้านการเเพทย์ ส่วนจอห์น ลี พ่อของสุนิสา ทำงานด้านวิศวกรรมที่บริษัท Cummins Power Generation 

เห็นแววยิมนาสติกตั้งแต่เล็ก

ทั้งพ่อบุญธรรมและเเม่ของสุนิสาชอบกีฬาเหมือนกัน ซึ่งความรักในกีฬาเป็นสิ่งที่ทั้งสองปลูกฝังให้ลูก ๆ แม้ปัจจุบัน พ่อของสุนิสาเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงหน้าอกลงไป หลังประสบอุบัติเหตุตกบันไดเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ต้องนั่งรถเข็นตั้งแต่นั้นมา

162758983088

เเม่ของสุนิสา ให้สัมภาษณ์กับ VOA ภาคภาษาลาวว่า ในฐานะผู้ปกครอง เธอสอนให้สุนิสา หรือชื่อเล่นว่า สุนิ (Suni) มีวินัย เป็นเด็กดี และว่า สุนิชอบทำกิจกรรมหลายอย่าง

ยีฟ บอกด้วยว่า สุนิมีพรสวรรค์ตั้งเเต่เด็กในกีฬายิมนาสติกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เเละเมื่อได้เเรงกระตุ้นด้านวินัย จึงทำให้เก่งขึ้นในกีฬานี้ เเละมีความพร้อมในด้านอื่น ๆ เมื่อโตขึ้นมา

สำหรับที่มาของชื่อ สุนิสา ยีฟเปิดเผยกับ ESPN ว่า ตั้งชื่อลูกสาวตามนักแสดงละครไทยคนหนึ่งที่ตนชื่นชอบในยุคนั้น และจับลูกเรียนยิมนาสติกตั้งแต่เล็ก ๆ หลังเห็นแววจากการโชว์ท่าตีลังกากลับหลังบ่อยครั้ง ขณะเล่นซุกซนตามประสา

ตั้งเป้าสูงเพื่อให้พ่อภูมิใจ

แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งที่สุนิสาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จในฐานะนักยิมนาสติก คือ การร่วมแข่งขันและคว้าเหรียญโอลิมปิก2020 ซึ่งถึงแม้เธอจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยกับการที่มีเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด จนมหกรรมกีฬานี้ต้องเลื่อนมา 1 ปี แต่เธอประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า "กำหนดการเปลี่ยน แต่เป้าหมายไม่เปลี่ยน"

คำพูดครั้งนั้นเป็นเครื่องยืนยันว่า เหรียญทองโอลิมปิก คือเป้าหมายต่อไปในชีวิตของสุนิสา เพราะความฝันนี้เป็นสิ่งที่พ่อและเธอตั้งเป้าหมายร่วมกันมาตลอด 10 ปี หรือนับตั้งแต่วันแรกที่เธอเริ่มเรียนยิมนาสติก

162758982927

"มันไม่ใช่แค่ฝันของฉัน มันคือฝันที่พ่อกับฉันตั้งเอาไว้ร่วมกัน มันจึงมีความหมายมาก ฉันอยากทำมันให้สำเร็จอีก ฉันอยากให้พ่อภูมิใจ เพราะเขาคือคนที่สนับสนุนฉันมา ตั้งแต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันจะทำได้ดีหรือไม่กับทางเดินนี้" สุนิสาพูดถึงเบื้องหลังการตั้งเป้าหมายก่อนเดินทางไปโตเกียว

ส่วน จอห์น ลี เปิดใจกับสื่อก่อนลูกสาวเข้าร่วมทีมชุดลุยโอลิมปิก2020 ว่า ไม่ว่าผลการเเข่งขันจะเป็นอย่างไร การที่สุนิเป็นชาวม้งอเมริกันคนเเรกในการเเข่งโอลิมปิกให้กับประเทศสหรัฐ ก็ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไปเรียบร้อยเเล้ว

หลังจากคว้า 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน (ณ วันที่ 29 ก.ค.) สุนิสายังมีโอกาสเก็บเหรียญโอลิมปิกเพิ่มจากการแข่งขันช่วงวันที่ 1 ส.ค. และ 3 ส.ค.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เธอจะได้เหรียญรางวัลมาครองอีกครั้งก่อนกลับแผ่นดินสหรัฐ

----------

อ้างอิง1

อ้างอิง2

อ้างอิง3

อ้างอิง4