ปักษ์ใต้ไม่หมู ‘ภท.-กธ.’รุกคืบ ไล่บี้ ‘รทสช.-ปชป.-ประชาชาติ’

ปักษ์ใต้ไม่หมู ‘ภท.-กธ.’รุกคืบ   ไล่บี้ ‘รทสช.-ปชป.-ประชาชาติ’

สัญญาณการรุกคืบที่ บ่งบอกว่า สมรภูมิปักษ์ใต้หลังจากนี้ ไม่หมู หรือผูกขาดการเมืองเพียงไม่กี่พรรคอีกต่อไป 

KEY

POINTS

  • ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ ที่รู้ดำ-รู้แดงกันไป เมื่อวันที่1ก.พ. ที่ผ่านมา เจาะลึกไปที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เห็นได้ชัด ถึงการต่อสู้ชิงชัยระหว่าง “6 พรรคการเมือง” 
  • พรรคกล้าธรรม และ พรรคประชาชน รอบนี้ แม้จะกินแห้ว ไร้ตัวแทนพรรคนั่งนายกอบจ. แต่หากอ่านเกมยาว ยังต้องลุ้นการเมืองในสนามต่อๆ ไป 
  • สัญญาณการรุกคืบที่ บ่งบอกว่า สมรภูมิปักษ์ใต้หลังจากนี้ ไม่หมู หรือผูกขาดการเมืองเพียงไม่กี่พรรคอีกต่อไป 

ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ ที่รู้ดำ-รู้แดงกันไป เมื่อวันที่1ก.พ. ที่ผ่านมา เจาะลึกไปที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เช็กชื่อ “ 3 นายกอบจ.” ที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้า และ “11 ว่าที่นายกอบจ.” ที่กำลังรอ กกต.รับรองผล 

เมื่อดูแล้ว ก็เห็นได้ชัด ถึงการต่อสู้ชิงชัยระหว่าง “6 พรรคการเมือง” ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย กวาดนายกอบจ.ไปได้ 4 คน

พรรครวมไทยสร้างชาติ กวาดไปได้ 4 คนเช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ ได้นายกอบจ.ไป 2 คน พรรคประชาชาติ ได้นายก อบจ. 2 คน

ขณะที่อีก 2 จังหวัดคือ จ.พังงา “บำรุง ปิยนามวาณิช” ที่แม้จะมี “ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์” สส.พังงา พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน แต่รอบนี้ลงชิงอิสระ ในนามกลุ่มรักษ์พังงา

เช่นเดียวกับ จ.ภูเก็ต เรวัตร อารีรอบ ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปีที่แล้ว ขายแบรนด์บ้านใหญ่ลงชิงในนาม กลุ่มภูเก็ตหยัดได้

ส่วนพรรคกล้าธรรม และ พรรคประชาชน รอบนี้ แม้จะกินแห้ว ไร้ตัวแทนพรรคนั่งนายกอบจ. แต่หากอ่านเกมยาว ยังต้องลุ้นการเมืองในสนามต่อๆ ไป 

 

ผ่าขุมกำลังนายก อบจ.ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร “นายกโต้ง”นพพร อุสิทธิ์ ถือเป็นสายตรงของ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีตสส.ชุมพร อดีตแกนนำกปปส. แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ  

ด้วยี่ห้อ "จุลใสแฟมิลี่" ส่งผลให้ “นายกโต้ง” ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขย “ลูกหมี” ชุมพล แบเบอร์ เข้าวินนายกอบจ.มาตั้งแต่ต้น แบบไม่ต้องลุ้น

จ.ระนอง  “ผู้ใหญ่แบงค์”สีหราช สรรพกุล เด็กปั้น“นายฮั้งเพ้ง” บดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ หรืออดีตนายกอบจ.ระนองผู้ล่วงลับ และ  “สส.เอ”คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย ผู้เป็นลูกชาย ล้ม ธนกร บริสุทธิญาณี แชมป์เก่าเข้าวินนายกอบจ.ที่อายุน้อยที่สุด

จ.สุราษฎร์ธานี “ป้าโส” โสภา กาญจนะ ได้แรงหนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงสส.ภูมิใจไทยในพื้นที่ ผนึกด้วย "สุเทพ เทือกสุบรรณ  เข้าวินนายกอบจ.หญิงคนแรก ล้ม "กำนันศักดิ์" พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว แห่งพรรคกล้าธรรม 

จ.นครศรีธรรมราช วาริน ชิณวงศ์ เด็กปั้น “โกเกี๊ย” พิพัฒน์ รัชกิจประการ แห่งพรรคภูมิใจไทย ได้รับแรงหนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ล้ม บ้านใหญ่เดชเดโชในที่สุด

ปักษ์ใต้ไม่หมู ‘ภท.-กธ.’รุกคืบ   ไล่บี้ ‘รทสช.-ปชป.-ประชาชาติ’

จ.พังงา “โก้หลี่” บำรุง ปิยนามวาณิช อดีตคนสนิทจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พลาดหวังจากการเมืองสนามใหญ่หลังพรรคสีฟ้ามีมติส่ง “ราเมศ รัตนเชวง” อดีตโฆษกพรรคลงชิงสส.  ขณะที่“โก้หลี่” ถูกจัดอยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 25 หมดโอกาสลุ้นเป็นผู้แทน รอบนี้ลงชิงในนามกลุ่มรักษ์พังงา ว่ากันว่า  “ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์” สส.พังงา พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนอีกแรง

จ.ภูเก็ต เรวัตร อารีรอบ  ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปเมื่อเดือนส.ค.2567 รอบนี้ขายแบรนด์บ้านใหญ่เมืองไข่มุก ลงชิงในนามกลุ่มภูเก็ตหยัดได้ เข้าวินนั่งนายกอบจ.อีกสมัย เอาคืนพรรคส้มที่รุกกินแดนในสนามใหญ่แบบสบายๆ

จ.กระบี่ “โกหงวน”สมศักดิ์ กิตติธรกุล ได้รับแรงหนุนจากพรรค ภูมิใจไทย นั่งนายกอบจ.สมัยที่ 8 แบบไม่ต้องลุ้น 

จ.ตรัง บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ รอบนี้ปลดแอก“นายหัว ” ใช้แบรนด์ “ทีม..นายกบุ่นเล้ง” มีทีมสส.ประชาธิปัตย์ สายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รวมถึง 2 สส.ตรัง จากพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ หนุนอีกแรง เข้าวินนายกอบจ.สมัยที่ 7 แบบแบร์เบอร์ 

จ.พัทลุง วิสุทธิ์ ธรรมเพชร ประมุขบ้านใหญ่ธรรมเพชร มีสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ สายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ให้การสนับสนุน ลอยลำนั่งนายกอบจ.ทิ้งห่าง "สาโรจน์ สามารถ" คนใกล้ชิด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากพรรคภูมิใจไทยหลายช่วงตัว 

จ.สตูล “โกเตี๋ยน” สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์  น้องชาย “โกเกียรติ” สมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ บ้านใหญ่สตูล สายสีน้ำเงิน มีศักดิ์เป็นอาของ “โกแพ” วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย แบเบอร์เป็นนายกอบจ.ต่อสมัยที่ 4 ตามสไตล์การเมืองฉบับบ้านใหญ่ 

ปักษ์ใต้ไม่หมู ‘ภท.-กธ.’รุกคืบ   ไล่บี้ ‘รทสช.-ปชป.-ประชาชาติ’

จ.สงขลา สุพิศ พิทักษ์ธรรม  ได้รับการสนับสนุนจาก 2 ขั้วสีฟ้า นิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค และเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ลอยลำเข้าวินนายก อบจ.ทิ้งห่างคู่แข่ง อาทิ “นายกแบน” ประสงค์ บริรักษ์ จากพรรคภูมิใจไทย หลายช่วงตัว 

จ.ปัตตานี เศรษฐ์ อัลยุฟรี จากพรรคประชาชาติ เอาชนะ อับดุลบาซิม อาบู อดีต สส.ปัตตานี พรรคภูมิใจไทย เข้าวินแบบสบายๆ ไม่ต่างจาก จ.ยะลา มุขตาร์ มะทา ประชาชาติ น้องชายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นั่งนายกอบจ.สมัยที่ 6 แบบไร้คู่แข่ง 

จ.นราธิวาส  กูเซ็ง ยาวอหะซัน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับแรงหนุนจาพรรคประชาชาติ ยังโชว์ความเก๋าเอาชนะ

อับดุลลักษณ์ สะอิ พี่ชาย ซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ที่ได้ซุ้มบ้านใหม่ “สส.บีลา” สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส. นราธิวาส พรรคกล้าธรรม สนับสนุน แม้ "2 ผู้มากบารมี" ธรรมนัส และชาดา ไทยเศรษฐ์ ลงพื้นที่ขอคะแนนด้วยตนเอง แต่ก็มิอาจต้านทาน ความเก๋าของ"กูเซ็ง" ได้ 

ปักษ์ใต้ไม่หมู ‘ภท.-กธ.’รุกคืบ   ไล่บี้ ‘รทสช.-ปชป.-ประชาชาติ’

แน่นอนว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นการตอกย้ำ ถึงสัญญาณรุกคืบ ของ “6 พรรคการเมือง” ในสมรภูมิปักษ์ใต้ โดยเฉพาะ “พรรคกล้าธรรม” ที่แม้รอบนี้จะกินแห้ว ไร้ตัวแทนพรรคนั่งนายก อบจ. แต่ย่อมหวังผลไปถึงการเมืองระยะยาว

เพราะหากลองเทียบเคียงกับการเมืองสนามใหญ่ เมื่อช่วงต้นปี 2566  จะพบว่า“60 ที่นั่งผู้แทน” เฉลี่ยไปที่ 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ได้สส.17 คน  พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้สส.14 คน พรรคภูมิใจไทย ได้สส.12 คน พรรคประชาชาติ ได้สส.7 คน พรรคพลังประชารัฐ ได้ สส.รวม 7 คน

ทว่า ในส่วนของสส.พลังประชารัฐ ปัจจุบันเหลือเพียง 4 คน เนื่องจากมีสส.3 คน ในกลุ่มผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ย้ายไปอยู่ “พรรคกล้าธรรม” คือ ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และอามินทร์ มะยูโซ๊ะ 2 สส.นราธิวาส

ขณะที่พรรคก้าวไกล แปรสภาพเป็นพรรคประชาชน ซึ่งกินศูนย์ไร้ที่นั่งนายกอบจ.รอบนี้  แม้จะได้สส.ภูเก็ต “ยกจังหวัด” รวม 3 คน จึงต้องจับตาว่า จะแก้เกมเพื่อพลิกกระแสส้ม ให้ฟื้นกลับมาได้อย่างไรหลังจากนี้ 

ทั้งหมดทั้งมวล เป็นการตอกย้ำถึงสัญญาณการรุกคืบของ 6 พรรคการเมือง บ่งบอกว่า สมรภูมิปักษ์ใต้หลังจากนี้ ไม่หมู หรือผูกขาดการเมืองเพียงไม่กี่พรรคอีกต่อไป