ป.ป.ช.ชำแหละปมทิ้งงานในตรังกว่า 2 พันล. เผยเบื้องหลังสนามบินไม่เสร็จ

ป.ป.ช.ชำแหละปมทิ้งงานในตรังกว่า 2 พันล. เผยเบื้องหลังสนามบินไม่เสร็จ

ป.ป.ช.เสวนาชำแหละโครงการทิ้งร้าง-ทิ้งงานในตรัง 23 โครงการ งบกว่า 2 พันล้านบาทเศษ เผยเบื้องหลังสร้างสนามบินฯ-หอศิลป์ฯ จ.ตรัง ยังไม่แล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่โรงแรมเรือรัษฎา จ.ตรัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำโดยนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะ จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ โดยมีการเสวนาความเสี่ยงในการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสาโรจน์ นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ตรัง นายมงคล ศรีสว่าง ผอ.สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช.

นายบัณฑิต กล่าวถึงภาพรวมการทุจริตใน จ.ตรัง ตอนหนึ่งว่า ปัญหาไม่ใช่การทิ้งงาน หรือทิ้งร้าง แต่ที่เป็นปัญหาก็คือการทิ้งร้าง เพราะเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ทิ้งร้าง โดยภาพรวมทั้งหมดที่มีภาพรวมอยู่คือ 23 โครงการ งบประมาณ 2,095 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนมาก สำนักงาน ป.ป.ช.ตรัง ได้ลงพื้นที่กับหน่วยงานเกี่ยวข้องว่า ทำอย่างไรให้โครงการเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้ และติดตามต่อเนื่องโดยตลอด มีข้อมูลเหมือนกันว่า มีโครงการไหนบ้าง และจะดำเนินการอย่างไร และหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เราลงพื้นที่ติดตาม จนใช้งานได้

“ยกตัวอย่างกรณีทิ้งงาน สนามบินใน จ.ตรัง เป็นที่สนใจมาก มีข้อมูลว่าผู้รับจ้าง ขาดสภาพคล่อง และขณะนั้นผู้ว่าจ้างได้ให้ไปกู้สถาบันการเงินต่าง ๆ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ จนผู้รับจ้างกลายเป็นผู้ทิ้งงาน เหลือเพียง 34 ล้านบาท จากงบประมาณเต็ม 200 กว่าล้านบาท” นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า แล้วเราทำอย่างไรต่อ ตอนนี้คืออยู่ในขั้นตอนการประเมินความเสียหาย ประเมินราคา เพื่อหาผู้รับจ้าง ส่วนงานก่อสร้างทิ้งร้าง 23 โครงการ มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันกว่าล้านบาท เราได้ติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.มีบทบาทอย่างไร ในเรื่องของปัญหาการทิ้งงาน หรือปล่อยทิ้งร้าง นายบัณฑิต กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคดี เว้นแต่ว่าถ้าปรากฎว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตอะไรก็ตาม เราจะเข้าไป แต่ตอนนี้ยังไม่ปรากฏ 

เมื่อถามว่า หลายโครงการที่มีการทิ้งงาน ป.ป.ช.ได้ไปตรวจสอบการประมูลกันอย่างไร นายบัณฑิต กล่าวว่า เรื่องนี้เราไปดูต้นเหตุทั้งหมด พอเป็นปัญหา เราไปดูหมดว่าเหตุใดถึงทิ้งงาน ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง กรณีสนามบินถูกเอกชนทิ้งงานนั้น นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้แจ้งหน่วยงานรับผิดชอบว่า ให้สร้างแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2568 ต้องเรียนว่า ประชาชนในตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว 

เมื่อถามว่า ปัญหาเหล่านี้ ป.ป.ช.ตรัง และคนในพื้นที่มีความตื่นตัวอย่างไรบ้าง นายบัณฑิต กล่าวว่า ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชมรมบทบาทสำคัญ และมีสื่อในพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาทุจริตในพื้นที่ เรามีชมรม “ตรังต้านโกง” ทำงานควบคู่กับ ป.ป.ช.ตรัง เราจะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีมีปัญหา มีการร้องเรียนในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ในอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.เราก็ลง ถ้าอยู่ลักษณะที่ว่า เราระงับยับยั้งได้ เราก็ยับยั้ง แต่ไม่ถึงขนาดนั้น เราเฝ้าระวัง ถ้าโครงการไหนใช้งบมาก แม้ไม่ปรากฏทุจริต เราก็ลงไปตรวจสอบ 

ส่วนประเด็นความเสี่ยงการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯคืออะไร นายบัณฑิต กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การทิ้งงาน และไม่ใช่ทิ้งร้าง โดยโครงการนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2559 ใช้งบประมาณไป 4 ครั้ง และตอนนี้ยังไม่เสร็จ งบประมาณมีจำนวนมาก ใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 390 ล้านบาท โครงการนี้เริ่มสร้างปี 2559 โดยจังหวัดตรังในขณะนั้น ใช้งบกลุ่มจังหวัด จำนวน 39 ล้านบาทเศษ ต่อมามีเงื่อนไขว่าจะมอบให้เทศบาลนครตรังดูแล โดยในปี 2560 เทศบาลนครตรัง ได้ตั้งจ่ายงบใหม่เพื่อใช้ในโครงการนี้ 61 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2562 จะดำเนินการสร้าง เพื่อโอนให้เทศบาลนครตรัง แต่การก่อสร้างโครงสร้างต่าง ๆ แล้วก็ยังไม่เสร็จ 

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า เมื่อทิ้งระยะมานาน จนกระทั่ง ป.ป.ช.ไปลงติดตามเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยใช้ค่าจ้าง 3.5 ล้านบาท ปรากฏว่า ดำเนินการตามสัญญาจ้างเรียบร้อย ณ วันนี้ และมีการตรวจรับงานด้าน ที่ปรึกษา ได้ปรึกษาเนื้อหาแนวทางแล้ว จนเคาะราคากลางก่อสร้าง ปรากฏว่าการกำหนดราคากลางเป็นส่วนหนึ่งคือ 287 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดีตามกฎหมายท้องถิ่น หากจะใช้งบเกิน 200 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าฯตรัง เทศบาลตรังจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าฯอนุมัติ แต่ผู้ว่าฯตรังเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน จึงขอเหตุผลเพิ่มเติม เช่น โครงการใหญ่ขนาดนี้ คุ้มค่าหรือไม่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมดำเนินการหรือไม่ การบริหารจัดการอาคารนี้ หลังจากนี้บริหารจัดการต่อเนื่องหรือไม่ วลีนี้ตนได้ประสานกับ สตง. เรื่องความคุ้มค่า เราต้องร่วมมือติดตามเรื่องนี้ จนทุกวันนี้เทศบาลนครตรัง มีหนังสือถึงผู้ว่าฯ ว่าเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่อนุมัติ

“ทำไมเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ หลังจากนี้เมื่อมีการบริหารจัดการโครงสร้าง โครงการขนาดใหญ่ นอกจากจะดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ เกรงว่าจะทิ้งร้าง เพราะในตรัง 23 โครงการทิ้งร้างไป 2 พันกว่าล้านบาท แล้วโครงการนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ จะทิ้งร้างอีกหรือไม่ เราจะติดตามต่อเนื่องแน่นอน ไม่อย่างนั้นสภาพปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น ผมจึงเสนอว่า กรณีอย่างนี้ ก่อนสร้างโครงการ ไม่ศึกษาความเป็นไปได้ก่อน งบประมาณขนาดนี้ ถ้าศึกษาความเป็นไปได้ ความเสี่ยง” นายบัณฑิต กล่าว

ขณะที่นายสาโรจน์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการป้องกัน ป้องปราม การเฝ้าระวัง ยกตัวอย่างที่ จ.ตรัง นี่คือจังหวัดเดียว 2 พันกว่าล้านบาท เราต้องคำนวณต่อไป 76 คูณ 2 พันกว่าล้านบาท นี่คือตัวเลขเป็นอย่างน้อย นี่คือภาพใหญ่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สำคัญ สำคัญกว่าการปราบปรามการทุจริตด้วยซ้ำไป ลักษณะโครงการทิ้งร้าง โครงการที่ล้มเหลวแต่ต้น อย่างที่ว่า ทุกโครงการต้องมีที่มาที่ไป มีการสำรวจ บริหารความเสี่ยง เว้นแต่ว่าเป็นโครงการที่ทำตามนโยบายในช่วงหนึ่ง ช่วงต่อมาอาจเปลี่ยนไป และไม่สามารถไปต่อได้

“ทั้งนี้สิ่งที่ ป.ป.ช. ทำทุกวันนี้คือการเฝ้าระวัง แต่ ป.ป.ช. หน่วยเดียวไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด เราต้องมีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น สตง. หรือสื่อ สำคัญอย่างยิ่งเลย” นายสาโรจน์ กล่าว