'โรม' จี้มท.ตัดสัญญาณดาวเทียม 'แก๊งคอลฯ' จับตาดีลขายไฟ'สปป.ลาว-ท่าขี้เหล็ก'
!['โรม' จี้มท.ตัดสัญญาณดาวเทียม 'แก๊งคอลฯ' จับตาดีลขายไฟ'สปป.ลาว-ท่าขี้เหล็ก'](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/IUKEMyOXjVmmwTvTo7Z3.webp?x-image-process=style/LG)
'โรม' จี้กระทรวงมหาดไทย ตัดสัญญาณดาวเทียม 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' หลัง"ข่าวกรอง" ระบุตึกยังเปิดทำการอยู่ ชี้ตัดน้ำไฟ -น้ำมัน-อนเตอร์เน็ต แค่มาตรการเบื้องต้นน จับตาดีลขายไฟ'สปป.ลาว-ท่าขี้เหล็ก'
การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยเชิญกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการสภาความมั่นคง หรือ สมช., เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.และเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ รวมถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.มาชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน การใช้บัญชีม้า ในขบวนการยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศ แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์
รวมทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อมาหารือภายหลัง สมช.มีมติตัดไฟ ระงับการส่งน้ำมัน และสัญญาณสื่อสาร ไปยัง 3 เมือง 5 จุดในชายแดนไทย-เมียนมา
โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า การตัดไฟ 5 จุดในชายแดนเมียนมานั้นมองว่าแท้จริงมีการจ่ายไฟ 6 จุด และถูกตัดไป 5 จุด ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ยังไม่ถูกตัด จึงจะได้สอบถามกับ กฟภ. สมช. และหน่วยงานว่า เหตุใดจึงไม่ตัดไฟจุดดังกล่าว และจะมีการขยายผลไปถึงชายแดน สปป.ลาว และกัมพูชาหรือไม่ เพราะไฟฟ้าที่มีการขาย มีทั้งสิ้น 18 จุด
พร้อมมองว่า การจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเมียนมา และกัมพูชา อาจต่างกัน และต้องการวิธีการไม่ให้กระทบประชาชน แต่เรื่องคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยได้รับปัญหามาก จึงจะต้องทำให้รวดเร็ว เจ็บแต่จบ
ทั้งนี้ การตัดไฟ น้ำมัน และสัญญาณนั้น อาจจะไม่พอ เพราะอย่างสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้น ก็มีสัญญาณดาวเทียม ซึ่งสามารถระบุพิกัดอาคารที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำการ โดยไม่ให้การตัดสัญญาณไปกระทบกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ และยังจะต้องมีอีกหลายระดับที่จะต้องจัดการ รวมถึงท่าข้ามด้วย เพราะการสั่งเปิด-ปิดท่าข้าม เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย
หากยังคงต้องการคงอยู่ของท่าข้ามฯ ก็จะต้องมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ ก็ควรลดปริมาณท่าข้ามฯ ลงเพราะปัจจุบันท่าข้ามหลายแห่ง อยู่ตรงข้ามตึกที่ทำการคอลเซ็นเตอร์ จึงชัดเจนว่า อาจมีการเอื้ออำนวยให้กับกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้
ส่วนที่มีการประเมินว่า กรณีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา อาจเปลี่ยนไปซื้อไฟ จาก สปป.ลาวแทนไทยนั้น มองว่า ถือเป็นความแปลกประหลาด เพราะประเทศไทย ก็มีการขายไฟฟ้าให้กับ สปป.ลาวด้วย ดังนั้น จึงจะต้องไปตรวจสอบความเชื่อมโยงในการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง สปป.ลาว กับท่าขี้เหล็กของเมียนมา
อย่างไรก็ดีมองว่า การเซ็นสัญญาระหว่าง กฟภ.กับบริษัทเอกชนในเมียนมา ที่มีข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นเห็นว่า
เจ้าของบริษัทถูกคว่ำบาตรจากหลายประเทศ และพื้นที่ที่มีการขายไฟฟ้า ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มเอกชนนี้ และเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งนโยบายต้องการให้กระทบกับประชาชนทั่วไปน้อยที่สุด และอาจไม่มีนโยบายใดที่จะไม่มีผลกระทบ 100%
ดังนั้น จึงจะต้องชั่งน้ำหนัก และจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหาย รวมถึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพราะเมื่อไทยตัดทรัพยากรไปแล้ว แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ ก็อาจจะไปพึ่งพาทรัพยากรประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้
อย่างไรก็ดีการประชุมกรรมาธิการฯ สัปดาห์หน้า จะมีการติดตามการเพิ่มมาตรการท่าข้ามชายแดนของเอกชนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพราะพบความพยายามส่งสิ่งของต่าง ๆ ผ่านท่าข้าม ซึ่งเอื้อต่อการกระทำผิดกฎหมาย เพราะท่าข้าม เป็นช่องโหว่สำคัญทำให้ชายแดนเปราะบาง ไม่เหมือนจุดข้ามแดนถาวร