เชิดนายก อบจ.ลำพูน โมเดลใหม่ ส้ม ‘ฆ่าบ้านใหญ่’ ?

เชิดนายก อบจ.ลำพูน โมเดลใหม่ ส้ม ‘ฆ่าบ้านใหญ่’ ?

ในมุมกลับ หาก ปชน.วิเคราะห์ตรงจุดคือ ทุ่มสรรพกำลังทุกอย่างเทไปที่นายก อบจ.ลำพูน ทั้งนโยบายท้องถิ่น การผลักดันวาระต่าง ๆ ในจังหวัด จนไปถึงจุดที่ “พูดจริง ทำจริง” ขึ้นมาได้ อาจกลายเป็น “โมเดลใหม่” ของ “พรรคส้ม” นำไปขยายผลหาเสียงต่อได้

ผ่านไป 1 สัปดาห์ เริ่มเห็นเค้าลางการ “สรุปบทเรียน” ของบรรดาพรรคการเมือง-กองหนุน ในสมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.” 2568 ที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่สาธารณชนต่างโฟกัสในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หนีไม่พ้นวาทกรรมจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” 2 ศาสดาสีส้ม ในประเด็น “บ้านใหญ่

โดยทั้ง “ธนาธร-ปิยบุตร” นิยามคำว่า “บ้านใหญ่” ใกล้เคียงกันว่า อย่าวัดค่าของคนกันแค่ “นามสกุล” หรือการสืบสายโลหิตจากตระกูลใด แต่ให้ดู “พฤติกรรม” มากกว่า

อาจเป็นเพราะนายก อบจ.สีส้ม 1 เดียวของพรรคประชาชน (ปชน.) คือ “โกเฮงวีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายก อบจ.ลำพูน ลูกชาย “โกเก๊าประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูนหลายสมัย อดีตนักธุรกิจดัง ที่เคยมีสายสัมพันธ์อันดี ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต

ทำให้ถูกฝ่ายตรงข้ามครหาว่า ก่อนหน้านี้เคย “แอนตี้” การเมืองแบบบ้านใหญ่ ไฉนรอบนี้ถึงพยายาม “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” คนในบ้านใหญ่ให้ออกมาดูดี ดูมีอุดมการณ์ กว่าบ้านใหญ่แห่งอื่น ๆ

หากสังเกตนับตั้งแต่ “โกเฮง” คว้าชัยให้ “พรรคส้ม” ในสมรภูมินายก อบจ. 1 ที่นั่งได้ หลังส่งลง 17 จังหวัด บรรดา “คีย์แมนสีส้ม” ต่างเฮโล ออกมายินดี และพร้อมสนับสนุนเขาเต็มที่

เริ่มจาก “ธนาธร”เตรียมไปปักหลักเป็น “ที่ปรึกษา”นายก อบจ.ลำพูน “ณัฐพงษ์”พาแห่เฉลิมฉลองรอบตัวจังหวัด ในขณะที่ “องคาพยพสีส้ม”ต่างจับจองพื้นที่ความสำเร็จในลำพูนกันอีกหลายคน

ประเด็นที่น่าสนใจ แม้ ปชน.จะได้รับชัยชนะนายก อบจ.เพียงแค่ 1 ที่นั่ง แต่กลับเกิดขึ้นในลำพูน ซึ่งมิได้มีฐานเสียงสีส้มขจรไกลมากนัก กลับกัน พื้นที่ระดับ “สีส้มเข้ม” อย่างสมุทรปราการ หรือภูเก็ต กลับพ่ายแพ้ “บ้านใหญ่”

ถึงเบื้องต้นจะมีการวิเคราะห์ว่า การเมืองท้องถิ่น และการเมืองภาพใหญ่แตกต่างกัน กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่น เลือกตัวบุคคล เน้นคนที่เคยเห็นหน้าค่าตา และเข้าถึงชาวบ้านได้แทบทุกวัน ส่วนการเมืองภาพใหญ่ คือการเลือกผู้แทน ไปผลักดันวาระนโยบาย หรือผ่านกฎหมายกันในสภาฯ ก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงเวลา 1 ปีเศษที่ สส.ปชน. เข้าไปนั่งในสภาฯ มีแค่ไม่กี่คนที่ “มีบทบาทสำคัญ” ทั้งการอภิปราย การตั้งกระทู้ แม้แต่การเป็นประธาน กมธ.สำคัญ หรือมีบทบาทให้สัมภาษณ์ ชี้แจงผ่านหน้าสื่อ ทว่า สส.อีกหลายราย โดยเฉพาะ สส.เขต ที่ได้มาจาก “กระแส” แคมเปญ “มีลุงไม่มีเรา” ในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา กลับมีบทบาทน้อยมาก

ในบางพื้นที่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น เกิดวาตภัย หรืออุทกภัย สส.สีส้ม ในจังหวัดกลับไม่อยู่ หรือช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ขณะเดียวกัน สส.เขตบางคน อภิปรายในสภาฯ ฝีไม้ลายมือยังเก้ ๆ กัง ๆ ทำให้ชาวบ้านที่เคยเลือกปี 2566 เพราะ “เบื่อลุง” มองว่า “มือไม่ถึง” ทำให้มีผลอย่างมาก ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ในปีนี้

 ในมุมกลับ หาก ปชน.วิเคราะห์ตรงจุดคือ ทุ่มสรรพกำลังทุกอย่างเทไปที่นายก อบจ.ลำพูน ทั้งนโยบายท้องถิ่น การผลักดันวาระต่าง ๆ ในจังหวัด จนไปถึงจุดที่ “พูดจริง ทำจริง” ขึ้นมาได้ อาจกลายเป็น “โมเดลใหม่” ของ “พรรคส้ม” นำไปขยายผลหาเสียงต่อได้

จนอาจกลายเป็นโมเดล “ฆ่าบ้านใหญ่” ที่ “พรรคส้ม” ถวิลหามานาน เพื่อใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกตั้งระดับชาติครั้งถัดๆ ไป ก็เป็นไปได้

ทั้งหมดคือทิศทาง “พรรคส้ม” หลังจบศึกชิง “นายก อบจ.” ที่ตอนนี้ต้องรอ “บิ๊กเนม” นัดถกเคาะสรุปบทเรียนกันต่อไป