ธุรกิจเรือสำราญดาวรุ่งเปิดสาขาปริญญาตรีครั้งแรกในไทย

ธุรกิจเรือสำราญดาวรุ่งเปิดสาขาปริญญาตรีครั้งแรกในไทย

ม.ศรีปทุมเปิดรับสมัครผู้จบ ม.6 หรือปวช.ที่สนใจรักงานบริการและการท่องเที่ยว สาขาการจัดการธุรกิจเรือสำราญวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ


ดร.ยุพวรรณ นังคลาภิวัฒน์  รองคณบดีวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ และรักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลิตนักศึกษาด้านการจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญนั้น ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการสอนระดับปริญญาตรีด้านนี้โดยตรง

ดังนั้น ม.ศรีปทุม จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ ซึ่งนับได้ว่าวงการธุรกิจเรือสำราญเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เติบโตเร็วและมีความต้องการในด้านบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญจำนวนมาก ซึ่งม.ศรีปทุมเพิ่งเปิดรับนักศึกษาเป็นปีที่ 2 และได้รับความสนใจมาก เพราะยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดสอน บางประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเรือสำราญมาก และมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขานี้โดยตรง เช่น ฟิลิปปินส์

ขณะที่ธุรกิจเรือสำราญนั้น ปัจจุบันมีจำนวนเรือทั่วโลก 238 ลำ โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 เจ้าคือ 1 คาร์นิวัล คอร์ปอเรชั่น 2 นอร์เวเจียน 3 รอยัลคาริเบียน  โดยมีนักท่องเที่ยวในเซกเตอร์นี้ 23 ล้านคนทั่วโลก มีอัตราเติบโตปีละราว 7 เปอร์เซ็นต์ และยังมีการเพิ่มเรือใหม่ๆสู่ตลาดปีละ 8-12 ลำ

เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอื่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญมีการเติบโตสูงมาก โดยท่าเรือที่เติบโตสูงในภูมิภาคนี้เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยเอเชียถูกมองว่ามีศักยภาพมาก เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวประเภทนี้ในแถบอเมริกาเหนือและแคริบเบียนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว จึงมีการมองตลาดใหม่ๆ

สำหรับประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา มีจำนวนเรือสำราญมาใช้บริการเทียบท่า 374 ลำ มีนักท่องเที่ยว 5.79 แสนคน โดยเข้ามาเทียบท่าทั้งภูเก็ต สมุย กทม. กระบี่ แหลมฉบัง ฯลฯ เรือที่มาเทียบท่ามีทั้งแบบค้างคืนจำนวน 59 ครั้ง แบบ Turn Around (เริ่มจากไทยแล้วไปประเทศอื่น) จำนวน 12 ครั้ง และแบบทรานซิสคือมาแวะพักที่ไทย จำนวน 303 ครั้ง

ปัจจุบันมีคนไทยเดินทางไปทำงานในบริษัทเรือสำราญในต่างประเทศจำนวนมาก โดยเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง สามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่ในเรือเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเจ้าของธุรกิจจะดูแลที่พักและอาหารให้ทั้งหมด ไม่ต้องใช้จ่ายเงิน และยังมีเซอร์วิสชาร์จเป็นรายได้เพิ่ม นอกเหนือจากเงินเดือน ซึ่งคนไทยเป็นที่ถูกใจของนายจ้างประเภทนี้เนื่องจากมีหัวใจบริการ และมีความรู้ความสามารถด้านการบริการไม่แพ้ชาติใด แต่ก่อนไปทำงานต้องสอบผ่านซีแมนบุ๊ค ซึ่งเป็นข้อกำหนดของคนทำงานประเภทนี้ก่อน

แต่ทั้งนี้คนทำงานในเรือสำราญต้องมีใจรัก เพราะจะอยู่ในเรือทำงานประมาณ 12 ชั่วโมง และใช้เวลาอยู่ในเรือหลายเดือน จนมีคำกล่าวว่า คนทำงานอาชีพนี้แทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ก็มีผลตอบแทนที่สูงมาก
ทั้งนี้ม.ศรีปทุมมีความเชี่ยวชาญด้านการสอนในธุรกิจบริการ ทั้งสาขาการท่องเที่ยว โรงแรม การบิน และเรือสำราญ นอกจากความรู้แล้วยังมีการฝึกงาน ดูงานจริง เป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวนักศึกษาของ SPU ได้เป็นที่จับจองและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการด้านเรือสำราญในการคัดสรรเข้าไปสู่กระบวนการทำงานจริง

ขณะนี้ ม.ศรีปทุม กำลังเปิดรับสมัครผู้จบม.6 หรือปวช.ที่สนใจรักงานบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเรียนในสาขาการจัดการธุรกิจเรือสำราญ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ สนใจสอบถามที่ 02-558-6888 และ www.spu.ac.th