“ออฟฟิศซินโดรม”อาการป่วยเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม

“ออฟฟิศซินโดรม”อาการป่วยเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม

ออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก นั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน


ทุกสิ่งที่เกิดกับเราในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำที่ผ่านมาเสมอเรื่องของสุขภาพร่างกายก็เช่นกัน โดยทั่วไป คนเรามักเริ่มต้นวัยทำงานในช่วงอายุ 23 ปี ไปจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี แม้ในช่วงนี้ร่างกายจะยังแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยง่าย แต่ลักษณะการทำงานในบางอาชีพ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ก็มีความเสี่ยงเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม (office syndrome)ที่เริ่มจากการแสดงอาการเล็กๆน้อยๆ จนคนมองข้ามไป เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดคอ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือทำการรักษา ก็อาจลุกลามทำให้ร่างกายเสียสมดุลจนนำไปสู่การเจ็บป่วยอื่นๆในอนาคต

 

รู้จักออฟฟิศซินโดรม

นพ. วศิน กุลสมบูรณ์ แพทย์หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวว่า ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งมีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันหรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมเช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไปจนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น

“วงจรชีวิตการทำงานคือ 23-60 ปี ถ้ามีอาการต่อเนื่อง 3-5 ปีก็จะเริ่มมีปัญหาแล้ว และจะส่งผลต่อปัจจัยอื่นๆในร่างกาย เช่น กระดูกต้นคอเสื่อม กระดูกหลังเสื่อมเพราะตัวกล้ามเนื้อและกระดูกถูกธรรมชาติออกแบบให้ใช้งานสำหรับการเคลื่อนไหว เมื่อไหร่ที่นั่งทำงานนานๆ การทำงานของระบบพวกนี้ก็จะผิดปกติ ทำให้ระบบทุกอย่างในร่างกายเกิดความไม่สมดุลย์กันไปหมด กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเล็กๆที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต” นพ. วศิน กล่าว

สำหรับอาการออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome) เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow) ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De QuervainSyndrome)นิ้วล็อก (trigger finger) เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)และ หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

จากสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในแต่ละปี พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัดกว่า 60% ของผู้ป่วยทั้งหมด คือผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเมื่อตรวจสอบประวัติแล้วก็พบว่าสาเหตุมาจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวนั่นเอง

นอกจากนี้ แนวโน้มที่น่าสนใจคือ ช่วงอายุของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มมีแนวโน้มที่น้อยลงเรื่อยๆ จากอดีตมักพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ต่อมาลดลงเหลือ 30 ปี และปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปีแล้ว สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์เปลี่ยน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการใช้โซเชียลอย่างแพร่หลาย ทำให้คนอยู่ในท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในกลุ่มที่เล่นโซเชียลผ่านโทรศัพท์มือถือนานๆ ส่วนใหญ่จะพบการอักเสบของข้อมือ และในระยะยาวอาจเกิดอาการนิ้วล็อก เหยียดให้ตรงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าการตระหนักรู้และใส่ใจต่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบันมีมากขึ้น ทำให้คนที่อายุน้อยๆ เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย

 

เช็คลิสต์ออฟฟิศซินโดรม

นพ. วศิน กล่าวอีกว่า วิธีปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรมทำได้ง่ายมาก โดยหลักการคือควรมีการลุกหรือเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆครึ่งชั่วโมงก็ช่วยได้แล้ว แต่ต้องเป็นการเคลื่อนไหวแบบยืดตัว เนื่องจากลักษณะท่าทางการทำงานส่วนใหญ่คือการก้มทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ด้วยภาระงานที่ยังต้องทำต่อไป ก็อาจเป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย จนทำให้เกิดอาการได้ ซึ่งในทางวิชาการแล้ว ออฟฟิศซินโดรม แบ่งออกเป็น3 ระดับ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับไหนแล้ว

 

ระดับที่ 1                มีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้นเมื่อทำงานไประยะหนึ่ง แต่พักแล้วดีขึ้นทันทีแนวทางแก้ไขคือการพักสลับทำงานเป็นระยะๆการยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย การนวดเพื่อผ่อนคลาย และการออกกำลังกาย

ระดับที่ 2                มีอาการเกิดขึ้น แม้จะพักผ่อนนอนหลับแล้ว แต่ยังคงมีอาการอยู่ อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานหรือรับการรักษาที่ถูกต้อง

และระดับที่ 3           มีอาการปวดอย่างมากแม้ทำงานเพียงเบาๆ พักแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลาลง หากมีอาการระดับนี้ จำเป็นต้องพักงานปรับเปลี่ยนงานและรับการรักษาที่ถูกต้อง

 

“วิธีสังเกตอาการ ว่าเป็นมากเป็นน้อย สมมุตินั่งทำงานอยู่แล้วปวด แต่พอลุกเดินไปทำกิจกรรมอื่นเช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปชงกาแฟ แล้วหายปวด แบบนี้อยู่ในระยะเริ่มแรกแปลว่าคุณดูแลตัวเองได้ ยังไม่ถึงขั้นต้องไปหาหมอแต่พอเป็นถึงระดับ 2-3 คุณเริ่มต้องการคำแนะนำหรือต้องไปพบแพทย์แล้ว ระดับ 2 อาจต้องมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ทำการรักษา 1-2 ครั้งแล้วกลับไปทำต่อที่บ้าน แต่ถ้าระดับ 3 จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว”นพ. วศิน กล่าว

ทั้งนี้ นพ. วศิน แนะนำว่า เมื่อมีอาการเกิดขึ้น แม้ไม่ถึงขั้นต้องรักษาด้วยเครื่องมือหรือตัวยา ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาอย่างน้อยเพื่อตรวจสอบว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากกล้ามเนื้อและกระดูกจริงๆ หรือเกิดจากภาวะซ่อนเร้นอื่นๆเช่น ปลายประสาท หรือผิดปกติของกระดูก เพื่อจะได้วิเคราะห์ต้นเหตุได้อย่างถูกต้องต่อไป

 

 

แนวทางการรักษาอาการ

นพ. วศิน กล่าว “แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม ตลอดจน การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทยซึ่งระยะเวลาการรักษาต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เช่น ถ้าอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างเร็วก็ 1-3 เดือนถึงจะหาย และมีข้อแม้ว่าต้องดูแลตัวเองไปเรื่อยๆไม่ให้กลับมาเป็นอีก”

 

นพ. วศิน แนะนำด้วยว่า กระบวนการทำกายภาพบำบัด เป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติซึ่งการทำกายภาพบำบัดที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การรักษาแล้วปล่อยกลับบ้าน แต่ยังควรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมามีอาการเหล่านี้อีก นักกายภาพบำบัดควรประเมินโครงสร้างร่างกายและปรับแก้ให้เกิดความสมดุล แนะนำการปรับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงานให้เหมาะสมเฉพาะแต่ละบุคคล รวมทั้งส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พร้อมรับสภาวะการทำงานที่อาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับออฟฟิศซินโดรมด้วย

 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะเปิดให้บริการ “คลินิกกายภาพบำบัดบำรุงราษฎร์” อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ณ ชั้น 2 อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ นับเป็นคลินิกแห่งแรกที่แยกออกมาตั้งนอกพื้นที่ของโรงพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมทั้งขยายไปยังกลุ่มคนวัยทำงาน และกลุ่มประชากรที่พักอาศัยในย่านนี้ สามารถเข้าถึงการรักษาฟื้นฟูได้มากขึ้น คลินิกกายภาพบำบัดแห่งนี้จัดเตรียมนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำแบบครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการฟื้นฟู และให้ข้อแนะนำเพื่อส่งเสริมป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการอีก เปิดให้บริการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และ วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.00-17.00 น.ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2667-1305 หรือ อีเมล [email protected]

-----------------------------------------------------