สนช.ร่วมกับ ม.กรุงเทพ รุกโครงการย่านนวัตกรรม
กล้วยน้ำไทสู่การเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อที่จะดึงดูดกลุ่มนักทุนและผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-up) เข้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรม
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวว่า “โครงการ Kluaynamthai Innovative Industries District (KIID) เป็นการพัฒนาพื้นที่ในย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจใหม่บริเวณถนนพระราม 4 กับถนนสุขุมวิทซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ การปฏิรูปฟื้นฟูพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าแห่งนี้ให้ก้าวสู่การเป็นย่านนวัตกรรมถือเป็นความท้าทายและจะสร้างมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองในอนาคตอันใกล้นี้”
ที่ผ่านมา สนช. ได้ดำเนินการยุทธศาสตร์นวัตกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจแห่งผู้ประกอบการจากความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการสร้างโอกาสการเติบโตทางทางธุรกิจ โดยหนึ่งในแนวทางดำเนินการที่สำคัญ คือ “การพัฒนาย่านนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองเพื่อรองรับธุรกิจเชิงนวัตกรรมและธุรกิจสนับสนุน โดยมีนวัตกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลักดันอัตลักษณ์ความเป็นย่านให้โด่ดเด่น มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและดำรงชีวิต และการแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา “คน” ให้มีความพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
การพัฒนาย่านนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาชน โดยตั้งเป้าหมายไว้ 15 ย่าน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 8 ย่าน (ประกอบด้วย 1) ย่านนวัตกรรมโยธี 2) ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท 3) ย่านนวัตกรรมปทุมวัน 4) ย่านนวัตกรรมคลองสาน 5) ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง 6) ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ 7) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี และ 8) นวัตกรรมบางซื่อ) พื้นที่ภาคตะวันออก 4 ย่าน (ประกอบด้วย 1) ย่านนวัตกรรมพัทยา 2) ย่านนวัตกรรมศรีราชา 3) ย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง และ 4) ย่านนวัตกรรมบางแสน) พื้นที่ภูมิภาคต่างๆ 3 ย่าน (ประกอบด้วย 1) ย่านนวัตกรรมจังหวัดเชียงใหม่ 2) ย่านนวัตกรรมจังหวัดภูเก็ต 3) ย่านนวัตกรรมจังหวัดขอนแก่น) ทั้งนี้ สนช. คาดหวังว่าย่านนวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นเสมือนศูนย์กลางการเจริญเติบโตของการพัฒนานวัตกรรม และช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เล็งเห็นว่าย่านกล้วยน้ำไทถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแหล่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถพัฒนาย่านกล้วยน้ำไทไปสู่ย่านนวัตกรรมได้ โดยตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ในการชักจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ start-up ให้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานอุตสาหกรรมเดิมของย่าน และมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีส่วนร่วม สร้างมูลค่าเพิ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคสร้างสรรค์ให้กลายเป็นย่านที่น่าอยู่ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือการจ้างงาน ผู้คนในชุมชนให้ตอบรับความร่วมมือพร้อมช่วยกันผลักดันให้กลายเป็นชุมชนย่านนวัตกรรม อันจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์และนโยบายที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรม และการเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในระดับนานาชาติ”
จากแนวคิดการสร้าง eco-system ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (start-up)ตามแนวแผนการพัฒนา Thailand 4.0 มหาวิทยาลัยกรุงเทพพร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการบ่มเพาะ Start-up สร้างกระบวนการเรียนรู้ในแบบความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นพลังผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่และสร้างกลุ่มผู้เริ่มประกอบธุรกิจใหม่หรือกลุ่มสตาร์ทอัพให้มีศักยภาพพร้อมพัฒนาผลงานสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ
ขณะที่แหล่งอุตสาหกรรมในย่านกล้วยน้ำไทจะเข้าร่วมสนับสนุนทั้งองค์ความรู้แบบเฉพาะทางและเงินทุนเริ่มต้น เพื่อดึงดูดแหล่งนักลงทุนที่สนใจสินค้านวัตกรรม ตัวอย่างเช่น การพาณิชย์อิเลคโทนิค (e-comerce) อุตสาหกรรมสื่อใหม่ (new-media) หรือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) เป็นต้น
KIID innovative corridorคือ โครงการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ย่านนวัตกรรมมีระยะ 5 ปี ที่จะเริ่มต้นเส้นทางจากรถไฟฟ้าสถานีเอกมัย ผ่านมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ของการท่าเรือและสามารถข้ามไปยังพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในบางกระเจ้า ซึ่งตลอดสองข้างเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าจนถึงแหล่งการเรียนรู้และศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ถูกวางเป้าหมายให้เป็น quick win project ที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดรูปแบบธุรกิจในบ้านที่ส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ปัจจุบันได้มีรายได้สูงขึ้นและมีคุณภาพของพื้นที่มีความร่มรื่นน่าเดินมากขึ้น โดยเน้นให้ขนาดพื้นที่สีเขียวเท่ากับต่อคนต่อตารางเมตรและจะต้องมีสัดส่วนที่สูงกว่าย่านอื่นๆเพื่อต่อยอดนวัตกรรมในพื้นที่สีเขียว (green space) ให้มีความโดดเด่นและแตกต่างเป็นที่พูดถึงของคนเมืองกรุงต่อไป