เรื่องเล่าจากครูบนดอย
เรื่องเล่าจากครูบนดอย จุดประกายแนวทางส่งเสริมโภชนาการเด็กไทย สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแอคทีฟเลิร์นนิ่ง
ในชุมชนบนหุบเขาที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ แต่ด้วยความห่างไกลและยากลำบากในการเดินทางเข้าถึง ประกอบกับความยากจน และขาดการให้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กจำนวนมากยังคงมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม นำมาซึ่งปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการที่ไม่สมวัยตามมา
การเดินทางกว่า 4 ชั่วโมงจากตัวเมืองน่าน มุ่งหน้าสู่ โรงเรียนบ้านห้วยฟอง อ. เฉลิมพระเกียรติ หลายช่วงแทบไม่มีถนน โดยเฉพาะจากตีนดอยขึ้นสู่โรงเรียนระยะทางเพียง 5 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางถึงหนึ่งชั่วโมง โรงเรียนห่างไกลแห่งนี้เป็นที่บ่มเพาะการศึกษาให้กับเด็กไทยชาวเขากว่า 200 คน จากสามหมู่บ้านในตำบลขุนน่าน ทั้งยังเป็นที่พักพิงของนักเรียนประถมและมัธยมอีกกว่า 40 ชีวิตที่พักประจำที่โรงเรียน
จากคำบอกเล่าของครูเกียรติศักดิ์ ใจปัน ครูรุ่นใหม่ไฟแรงที่ประจำอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ได้รับการบรรจุเมื่อสองปีก่อน ให้ข้อมูลว่า “โรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1-3 กิโลเมตร เด็กๆ จะต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านบนยอดดอยตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อลงมาเรียน รวมระยะเวลาเดินทางไปกลับในแต่ละวันเกือบสองชั่วโมง แม้จะเป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่เด็กที่นี่จำนวนหนึ่งยังคงตัวเล็ก ผอม และขาดสารอาหาร เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน จึงไม่ได้รับอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอต่อร่างกาย ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการตามมา”
ทางโรงเรียนเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการเปิดหอพักในโรงเรียนให้นักเรียนได้อาศัยในระหว่างวันเปิดภาคเรียน จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล อีกทั้งยังเป็นการฝึกวินัยการใช้ชีวิต และที่สำคัญคือเด็กๆ จะได้มีอาหารรับประทานทุกมื้อ ต่อมาในปี 2559 เมื่อโครงการเด็กไทยสุขภาพดี (Nestlé Healthy Thai Kids) โดยความสนับสนุนของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ กรมอนามัย คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้ามาถึงโรงเรียนแห่งนี้ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนโภชนาการและสุขภาพของเด็กอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ครูเกียรติศักดิ์ ในฐานะครูอนามัยของโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า “ผมรู้จักโครงการเด็กไทยสุขภาพดีจากครูท่านหนึ่งในโรงเรียนที่ได้ไปอบรมและรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ นี้จากเนสท์เล่ พร้อมได้รับสื่อการเรียนการสอนอีกหนึ่งชุดที่สนุกและเข้าใจง่าย มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการและสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่นักเรียน ผมจึงขออาสารับผิดชอบดำเนินโครงการฯ นี้เอง โดยได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของโครงการฯ ที่ www.dekthaidd.com จากนั้นจึงเริ่มวางแผนตารางกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ให้เข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน โดยยึดตามแนวคิดหลัก 4 ประการเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี ได้แก่ อ่าน- อ่านฉลากโภชนาการ ปรับ- หันมากินอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ ขยับ- กินเท่าไหร่ ต้องใช้ให้หมด เปลี่ยน- เปลี่ยนมากินอาหารที่มีความหวาน มัน เค็ม แต่พอดี”
“โครงการเด็กไทยสุขภาพดีจุดประกายให้โรงเรียนเกิดแนวคิดในการพิชิตสุขภาพดี ทั้งนี้โรงเรียนยังมีเด็กพิเศษจำนวนหนึ่งซึ่งมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จึงเรียนรู้ช้าและเข้าใจอะไรได้ยากกว่าเด็กทั่วไป ดังนั้น โรงเรียนจึงมุ่งเน้นด้านสุขภาพและการพัฒนาสติปัญญามากกว่าความเป็นเลิศในด้านวิชาการ โดยนำสื่อการสอนของโครงการฯ มาปรับใช้และคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆ ในการปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและส่งเสริมการออกกำลังกายให้มีความสนุกสนาน เข้าใจง่าย และให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมโดยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการคิดและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยมีครูคอยควบคุมดูแลอยู่ห่างๆ เช่น ในวิชาส่งเสริมอาชีพที่เด็กจะได้เรียนรู้การทำน้ำสมุนไพรและขนมไทยเพื่อนำไปขาย ครูให้เด็กได้คิด ค้นคว้า และนำเสนอเมนูเอง ที่น่าสนใจคือในขั้นลงมือทำ เด็กตระหนักถึงอันตรายจากการทานหวาน จึงลดปริมาณน้ำตาลลง เช่นเดียวกับกรณีของเด็กที่พักประจำในโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทำอาหารมื้อกลางวันให้กับทุกคนทั้งโรงเรียน รวมถึงมื้อเช้าและมื้อเย็นของตนเองด้วย เด็กเหล่านี้ได้มีการลดปริมาณน้ำตาลในการปรุงอาหาร เพิ่มปริมาณและความหลากหลายของผักในอาหารแต่ละมื้อ รวมถึงเพิ่มการประกอบอาหารด้วยไข่ และส่งเสริมให้เพื่อนๆ และน้องๆ ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการดื่มนมโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าเด็กรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการทานอาหารถูกหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งครูเกียรติศักดิ์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านห้วยฟองมีนักเรียนที่มีน้ำหนักส่วนสูงตามเกณฑ์ คิดเป็นสัดส่วน 90% ของนักเรียนทั้งหมด
โดยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ครูเกียรติศักดิ์ ได้ดึงความสนใจจากเด็กๆ โดยการนำเกมส์ใหม่ๆ ที่สอดแทรกความรู้ด้านโภชนาการ ซึ่งประยุกต์มาจากสื่อการสอนในโครงการเด็กไทยสุขภาพดีจากเนสท์เล่มาให้เด็กได้ลองเล่นอย่างต่อเนื่อง เช่น เกมส์เปิดป้ายที่เด็กจะได้ลุ้นว่าในการรับประทานอาหารจานนี้จะได้พลังงานเท่าไหร่ ถ้าเปิดป้ายมาได้พลังงานเท่านี้จะต้องเผาผลาญพลังงานอย่างไร และควรออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ทางโรงเรียนยังได้จัดงานวันเด็กไทยสุขภาพดี ที่ให้เด็กทุกคนได้เข้าฐานกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องโภชนาการที่ถูกต้องและเคลื่อนไหวขยับตัว รวมถึงกิจกรรมเต้นแอโรบิกเพลง ‘Nestlé Healthy Kids Fit and Firm’ ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี เป็นเวลา 30 นาทีก่อนกลับบ้าน
อ. บรรเจอดพร สู่แสนสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้แบบ Active Learning สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายถึงผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวว่า “การเรียนรู้ที่ครูเน้นให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติเองโดยไม่ใช่แค่การทำตามคำสั่งเช่นนี้ เป็นการเรียนรู้ในแบบ Active Learning ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องโภชนาการ กระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ช่วยฝึกให้เด็กได้มีการคิด วิเคราะห์ ทดลอง และตกผลึกความคิดในมุมมองของตนเอง และจะบรรลุผลได้ดีก็ต่อเมื่อเด็กมีแรงบันดาลใจจากข้างในตนเองโดยไม่มีการบังคับ และครูจะต้องเป็นผู้ให้กำลังใจและอดทนที่จะไม่บอกคำตอบเด็กก่อนเสมอ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ครูไทยได้มีการนำแนวทางการเรียนรู้นี้ไปปรับใช้ในหลายวิชากันมากขึ้น แม้แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล”
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนสท์เล่ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงได้ดำเนินโครงการเด็กไทยสุขภาพดีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่สมดุลและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมให้กับเยาวชนไทยทั่วประเทศ แม้ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก โดยโครงการนี้ได้เข้าถึงคุณครู 7,578 คน และเด็กนักเรียนแล้วกว่า 1.67 ล้านคนทั่วประเทศ และจะยังคงเดินหน้าสร้างกำลังใจ และสนับสนุนคุณครูที่ขับเคลื่อนโภชนาการและสุขภาพของเด็กไทยอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ใหม่ๆ พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากครูต้นแบบให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดสื่อโครงการเด็กไทยสุขภาพดีได้ฟรีที่ www.dekthaidd.com เพื่อใช้ประกอบการสอนโภชนาการและสุขภาพให้เข้าใจได้ง่าย พร้อมจัดกิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อส่งเสริมโภชนาการและการออกกำลังกายสำหรับเด็กวัยเรียนอย่างต่อเนื่อง