PRM มั่นใจปี 61 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เสริมทัพกองเรืออีก 9 ลำ

PRM มั่นใจปี 61 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เสริมทัพกองเรืออีก 9 ลำ

‘พริมา มารีน’ ประกาศผลประกอบการกำไรสุทธิ 759.11 ล้านบาท มั่นใจปี 61 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% รับแผนเสริมทัพกองเรืออีก 9 ลำ

‘บมจ.พริมา มารีน’ หรือ (“PRM”) ผู้นำการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเคมีทางทะเลรายใหญ่ที่สุดของไทย ปี 60 ทำรายได้รวม 4,501.00 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 759.11 ล้านบาท หลังเสริมทัพกองเรือหนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจเรือขนส่งฯ ด้านบอร์ดฯ บริหาร ประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนที่อนุมัติจ่าย 250,000,000 บาท ซึ่งในปี 2560 บริษัทฯ ได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว จำนวน 800,000,000 บาท รวมเป็นจำนวนปันผลที่อนุมัติจ่ายของปี 2560 ทั้งสิ้น ในอัตราหุ้นละ 0.42 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,050,000,000 บาท ขณะที่ปี 61 ตั้งเป้าผลการดำเนินงานเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากแผนการปรับพอร์ตเพิ่มกองเรือใหม่อีก 9 ลำ และชูการบริหารจัดการด้านต้นทุนดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ หนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น

 

นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) (“PRM”) ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจรซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมถึงให้บริการเรือขนส่งที่สนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,501.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.76 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,296.54 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขยายกองเรือเข้ามาเพิ่มเติมส่งผลให้ ณ เดือนธันวาคม 2560 มีเรือให้บริการรวมทั้งสิ้น 25 ลำ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่ลูกค้าได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้  สัดส่วนรายได้จากแต่ละกลุ่มธุรกิจในปี 2560 มาจากกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) คิดเป็น 43.55% รองลงมาได้แก่ กลุ่มธุรกิจเรือขนส่ง 37.90% ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (FSO) 10.67% และธุรกิจบริหารจัดการกองเรือ 7.89% ของรายได้ร่วมทั้งหมด

 

การปรับการคำนวณค่าเสื่อมราคาของตัวเรือเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทางบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยใช้ราคาเหล็ก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ในการคำนวณค่าเสื่อมราคาของเรือในปี 2560 ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลกระทบต่อการประเมินค่าเสื่อมราคาของเรือในปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น 54.05 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา และมีการคำนวนณค่าเสื่อมราคาของเรือเพิ่มขึ้น จำนวน 127.88 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯได้รับผลกระทบจากการปรับค่าเสื่อมราคาของเรือเพิ่มขึ้น 181.93 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งฯ ยังได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งระหว่างประเทศที่ปรับลดลง จึงส่งผลต่อเรือขนส่งขนาดใหญ่ของ PRM ที่มีกำไรลดลง ส่วนเรือขนาดเล็กยังคงไปได้ด้วยดี ขณะที่กลุ่มธุรกิจ FSU นั้นเรือ Energy Star ยังให้บริการลูกค้าไม่เต็มลำ จึงทำให้รายได้ไม่สมดุลกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลต่อภาพรวมกำไรสุทธิในปี 2560 ที่ทำได้ 759.11 ล้านบาท ลดลง 36.85 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิ 1,202.16 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานในปี 2560 ในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น เพื่อตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยกำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิ์รับเงินปันผลในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2561

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PRM กล่าวว่า แผนดำเนินงานในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันการเติบโตและรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดี โดยบริษัทฯ จะปรับพอร์ตกองเรือให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมการให้บริการเรือขนส่งน้ำมันทางทะเล บริหารจัดการกองเรือและบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปีนี้มีแผนเพิ่มกองเรืออีกทั้งหมด 9 ลำ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวจากโรงกลั่น  (ธุรกิจขนส่งฯ) จำนวน 6 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 14 ลำ รองรับความต้องการใช้เรือเพื่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังคลังน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขนส่งสินค้าประเภทปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี รวมถึงนำมาทดแทนเรือเก่าที่ใช้งานมานานเพื่อลดอายุเฉลี่ยของเรือทั้งหมด

 

ขณะที่ธุรกิจ FSU จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 7 ลำ จะเพิ่มเรืออีก 1 ลำ โดยใช้เรือขนาด 100,000 เดทเวทตัน เพื่อขยายการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงแบบใส (Clean Product) เช่น น้ำมันดีเซลและเบนซิน ซึ่งถือเป็นการขยายการให้บริการเพิ่มเติมและทดแทนการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ส่วนธุรกิจ FSO มีแผนเพิ่มเรืออีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ เพื่อให้บริการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยคาดว่าเรือที่ทยอยรับมอบในปีนี้จะเข้ามาช่วยผลักดันผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 600 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการเรือภายในกองเรือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบริหารต้นทุนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนการขนส่งจากรายเที่ยว (Spot) เป็นสัญญาแบบมีระยะเวลา (Time Charter) ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อเนื่องและลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนเชื้อเพลิง

 

“ในปีนี้เรามีนโยบายบริหารจัดการกองเรือให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมและความต้องการของลูกค้า รวมถึงจะเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจและผลักดันผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าด้วยแผนดำเนินงานดังกล่าวจะผลักดันผลการดำเนินงานในปีนี้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือมีรายได้ใกล้เคียง 5,000 ล้านบาท” นาย ชาญวิทย์ กล่าว