ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า
ก.แรงงาน เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ยกร่างอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 ได้เพิ่มบทบัญญัติให้คณะกรรมการค่าจ้างสามารถกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุที่ไม่อาจปฏิบัติงานได้เต็มเวลา
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุนั้น คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง/ลูกจ้าง เพื่อร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการค่าจ้าง
สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุฉบับนี้ จะประกอบด้วย การกำหนดอายุของลูกจ้างผู้สูงอายุ ประเภทงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ และ ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างผู้สูงอายุได้ทำงานที่มีความเหมาะสม ยืดหยุ่นได้ในเรื่องเวลาการทำงาน โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทำให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง รู้สึกมีคุณค่า ส่งผลทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างสูงอายุแบบไม่เต็มเวลาได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วย