‘ไทย’ ขาด 'ทักษะดิจิทัล' จูงใจบิ๊กเทคโลก แนะรัฐเร่งส่งเสริม -หนุนภาษีจูงใจ

‘ไทย’ ขาด 'ทักษะดิจิทัล' จูงใจบิ๊กเทคโลก แนะรัฐเร่งส่งเสริม -หนุนภาษีจูงใจ

ไทยขาดทักษะดิจิทัล นักวิชาการแนะรัฐต้องเร่งพัฒนา จูงใจเทคโลกลงทุน มองยักษ์เทคฯ ลงทุน "ดาต้าเซ็นเตอร์" เป็นการลงทุนปกติตามวัฎจักรธุรกิจที่เติบโต มีข้อดีหนุนคนไทยใช้คลาวด์มากขึ้น ข้อมูลอยู่ในประเทศปลอดภัย “สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์” แนะรัฐเร่งสร้างแรงจูงใจลงทุนเพิ่ม

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยของไมโครซอฟท์ ถือเป็นการลงทุนตามธรรมชาติ เป็นวัฎจักรของการทำธุรกิจ ประเทศไหนที่มีการใช้งาน (ทราฟฟิก) จำนวนมาก ผู้ให้บริการก็พร้อมเข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูล หรือดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อรองรับการใช้งาน เหมือนกับรถยนต์ขายที่ไหนได้ดี แบรนด์รถยนต์ก็มาตั้งศูนย์ฯขาย

การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการจะไปเริ่มตั้งที่สิงคโปร์ก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แล้วก็ให้บริการทั่วอาเซียน ต่อเขามองมาที่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมาก การใช้บริการก็เพิ่มขึ้น กลายเป็นประเทศที่สอง ที่ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เข้าไปลงทุน เช่นเดียวกับ มาเลเซีย และ ไทย ที่มีการใช้งานมากขึ้น ต่อไปจะเป็น เวียดนาม

หากถามว่า การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ครั้งนี้ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทยได้อะไร สิ่งที่ได้ประโยชน์ คือ การมีศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะเร่งการใช้บริการคลาวด์ขององค์กรต่างๆ ในประเทศ ในแง่การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ลดความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลไว้นอกประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจากระยะทางที่ใกล้ขึ้น

อีกแง่มุมสำคัญ คือ ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยี เช่น Big Data, AI, Blockchain และ IoT ขององค์กรไทย การใช้คลาวด์สาธารณะจะทำให้องค์กรพัฒนาระบบเหล่านี้ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการลงทุนสร้างเอง ทั้งในแง่ต้นทุน ความยืดหยุ่น และการอัพเดตเทคโนโลยีล่าสุด

เช่นเดียวกับภาครัฐและเอกชนสามารถใช้บริการคลาวด์สาธารณะผ่านศูนย์ข้อมูลในประเทศได้อย่างสะดวก จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเร่งให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบาย “Cloud First”

"ข้อดี คือ ข้อมูลจะอยู่ภายในประเทศ ไม่รั่วไหล บริการรวดเร็ว เกิดความตื่นตัวของผู้ใช้งาน รู้สึกมีความเป็น sense of ownership มากขึ้นว่าเรามีการคลาวด์ใช้งานได้ในประเทศ ข้อมูลส่วนบุคคลก็มีความมั่นใจมากขึ้น เกิดจากการกระตุ้น การใช้งาน ส่วนตัวเลขลงทุน ผมไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่ผมสนใจอีกเรื่องมากกว่า คือ ถ้าเกิดคลาวด์โพรวายเดอร์มา สิ่งที่เราควรจะได้จริงๆ นอกจากดาต้าเซ็นเตอร์ คือ ทำอย่างไร ให้อัพสกิลคนของเรา ที่จะใช้คลาวด์ตรงนี้ได้ดีขึ้น อย่างอาซัวร์ของไมโครซอฟท์ หรือของเอดับบลิวเอสเอง ที่มีบริการมากมาย ทำอย่างไรให้คนไทยใช้งานตรงนี้ได้มากขึ้น

ไม่เกิดการจ้างงานในดาต้าเซ็นเตอร์

มองอีกมุม การเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของยักษ์เทคโนโลยี ส่วนใหญ่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ระบบเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกอิมพอร์ตเข้ามา ตรงนี้ไทยไม่ได้อะไรเลย แต่ที่ได้ คือ ได้เรื่องการก่อสร้าง อินฟราสตรัคเจอร์ อาคาร ดังนั้นการจ้างงานในเชิงดาต้าเซ็นเตอร์แทบไม่มีอะไรมาก ส่วนมากจ้างแค่ คนเฝ้าสถานที่ พนักงานรักษาความปลอดภัย อาจมีพนักงานภายในอยู่บ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก จะไม่ใช้คนมา operate ภายใน เพราะสามารถสั่งงานทำงานจากระยะไกลจากมุมไหนของโลกก็ได้ ดังนั้น จะไม่เกิดจ้างงานในดาต้าเซ็นเตอร์อย่างแท้จริง

ดร.ธนชาติ กล่าวต่อว่า ต่อให้ไม่มีดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้อยู่ในเมืองไทย คนไทยก็สามารถสร้างทักษะได้ แต่ประเด็นคือ ทำไมไทยยังขาดทักษะดิจิทัลอยู่ เหตุเพราะค่าใช้จ่ายยังสูง ควรมีการจัดหาหลักสูตร หรือคอร์สพิเศษเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้เรียนรู้ หรือมีช่องทางได้เรียนรู้ มี Incentive จากยักษ์เทคโนโลยีระดับโลกมากขึ้น

“ทักษะดิจิทัล” ต้องดึงดูด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะดึงดูดยักษ์เทคโนโลยีเข้ามาลงทุนที่ไทย ในสเกลที่มากกว่าการเข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ คือ เรื่อง “ทักษะดิจิทัล” ทักษะดิจิทัลของคนไทย จะเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่จะหนุนให้ไทยเป็นฮับได้ รวมถึงความสามารถในการใช้คลาวด์ ตลอดจนดีปเทค หรือเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ซึ่งไทยยังขาดสิ่งนี้ ทางแก้ คือ รัฐบาลต้องมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะคนในประเทศให้เพิ่มขึ้น

"แรงดึงดูดสำคัญ คือ ทักษะดิจิทัล อินฟราฯ เราก็ต้องแข็งแรง ระบบไฟฟ้าต่างๆ อินเทอร์เน็ต น้ำท่วมต้องไม่มี แรงจูงใจทางภาษีก็ช่วย เสถียรภาพการเมืองต้องมั่นคง แต่การที่ไมโครซอฟท์เข้ามาลงทุน ก็ยังดีกว่าไม่มา ทำให้ภาพรวมของการใช้คลาวด์ดีขึ้นแน่นอน แต่ถ้าจะดึงดูดเขาได้จริงๆ ก็ต้องมีคนที่มีทักษะจำนวนมากขึ้น ต่อให้เขาไม่มีดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทย จะอยู่ สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย แต่ถ้าไทยมีคนที่มีทักษะที่เขาต้องการ เขาสามารถตั้งศูนย์ดีเวลอปเม้นท์ในไทยได้ แต่ที่เขาไม่มาตั้งเพราะเราไม่มีคนที่มีทักษะอย่างที่เขาต้องการ"

ขณะที่ การเข้ามาของไมโครซอฟท์ ยังส่งผลกระทบต่อดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทย ที่อาจจะยกระดับตัวเองให้แข่งขันได้มากขึ้น เพราะผู้ให้บริการต่างชาติมักมีความได้เปรียบมากกว่า เหมือนปลาใหญ่ กินปลาเล็ก

“เขาซื้อเซิร์ฟเวอร์ล็อตใหญ่ได้ถูกกว่าเรา ต้นทุนเขาถูกกว่าเรา เราเสียเปรียบเขาหมด ขนาดยังไม่เข้ามา ผู้ประกอบการไทยก็ลดลงอยู่แล้ว”

แนะรัฐเพิ่มมาตรการจูงใจ

นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ซีอีโอ บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) และสมาชิกก่อตั้งสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย (TDCC) ให้ความเห็นว่ากับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย นับเป็นความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ซึ่งทำให้ภาพของประเทศไทยโดดเด่นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับโปรไฟล์ของประเทศไปในระดับโลก

หลังจากนี้ คาดว่าจะเริ่มได้เห็นแนวโน้มการปรับตัวย้ายไปใช้ระบบคลาวด์ในประเทศของลูกค้ากลุ่มสถาบันการเงินที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนผู้ให้บริการคลาวด์ (CSP) จะมีการขยายและเตรียมการเพิ่มศักยภาพให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์จะเริ่มวางรากฐานสำหรับ “AI Economy” เช่น การสร้าง AI Data Center แคมปัส ที่จะมีขนาดถึง 200MW เทียบกับ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัจจุบันที่มีขนาดราว 10-20 เมกะวัตต์ จากแนวโน้มนี้ ภาคพลังงานจะได้รับประโยชน์จากการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น พร้อมมีเหตุผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้เกิดการเร่งความพร้อมด้านพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ที่น่าจับตามองสถานะที่เป็นกลางของประเทศไทย จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รวมถึงผู้ให้บริการคลาวด์ในการแข่งขันกับเวียดนามที่การนำเข้าชิปของเอ็นวิเดียถูกแบน

ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการจูงใจที่เฉพาะเจาะจงกับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้ไมโครซอฟท์สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างชัดเจน

สมาคมจ่อเสนอรัฐดันไทยแข่งขันได้

สำหรับ TDCC กำลังเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อคิดเห็นและยูสเคสต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมจากกลุ่มสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯรวมไปถึงอยู่ระหว่างการนำเสนอ White Paper ต่อรัฐบาล ที่จะสรุปปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลควรมุ่งเป้าเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

การจัดตั้งสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย (TDCC) เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนภาพความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงและการเติบโตให้กับเหล่าผู้ให้บริการคลาวด์ (CSP) รวมถึงผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ (DC) ของประเทศไทย