อังกฤษ จัด "อาวุธ-เงิน" ปีละ 3 พันล้านปอนด์ให้ยูเครนใช้โจมตีรัสเซีย

อังกฤษ จัด "อาวุธ-เงิน" ปีละ 3 พันล้านปอนด์ให้ยูเครนใช้โจมตีรัสเซีย

อังกฤษ ยกให้ยูเครนเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะใช้อาวุธของอังกฤษอย่างไร พร้อมยืนยันว่า ยูเครนมีสิทธิ์ใช้อาวุธที่อังกฤษส่งให้โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย

ลอร์ดเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) กล่าวระหว่างการเยือนกรุงเคียฟของยูเครนว่า ขึ้นอยู่กับยูเครนที่จะตัดสินใจว่าจะใช้อาวุธของอังกฤษอย่างไร หลังจากที่อังกฤษมีแผนจะจัดสรรเงิน 3 พันล้านปอนด์ต่อปี สำหรับช่วยเหลือยูเครนตราบเท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ คาเมรอนยังมองว่า ในเมื่อรัสเซียสามารถทำการโจมตีในดินแดนยูเครนได้ ยูเครนเองก็มีสิทธิ์โจมตีรัสเซียเพื่อปกป้องตัวเองได้เช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้สนับสนุนโดยตรงต่อแนวคิดในการใช้อาวุธอังกฤษเพื่อโจมตีเป้าหมายในรัสเซียก็ตาม

ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรปล่อยให้เป็นที่เข้าใจโดยไม่ต้องชี้แจงออกมาอย่างชัดเจนว่า อาวุธที่ส่งไปช่วยเหลือ เช่น ขีปนาวุธพิสัยไกลสตอร์ม ชาโดว์ ควรถูกใช้ภายในดินแดนอธิปไตยยูเครนเท่านั้น แต่การแถลงครั้งล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า 'มันขึ้นอยู่กับยูเครน' ที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับอาวุธดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าสหรัฐเรียกร้องให้ยูเครนยุติการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย เพราะเกรงว่าอาจกระตุ้นให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

ขณะที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ชาติตะวันตกจะต้องพิจารณาว่าจะส่งกองทหารภาคพื้นดินไปยังยูเครนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากได้รับการร้องขอจากยูเครนในกรณีที่รัสเซียบุกทะลวงแนวหน้าสำเร็จ พร้อมย้ำว่า หากปล่อยให้รัสเซียคว้าชัยชนะ ยุโรปจะไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครงยังย้ำว่า ยุโรปกำลังเผชิญภัยคุกคามความอยู่รอดจากพฤติกรรมอันแข็งกร้าวของรัสเซีย  จึงต้องมียุทธศาสตร์ด้านกลาโหมที่ต้องลดการพึ่งพาสหรัฐและไว้ใจได้ ซึ่งหมายถึงการมีขีปนาวุธพิสัยไกล รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อป้องปรามรัสเซีย

ฝรั่งเศสต้องการให้สหภาพยุโรป (อียู)มีนโยบายด้านการป้องกันประเทศร่วมกัน หลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารรุกรานยูเครนและมีโอกาสที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพยายามลดระดับความช่วยเหลือประเทศอื่น จะกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม หลายชาติสมาชิกคัดค้านเนื่องจากมองว่ากลไกที่มีอยู่เดิมอย่างองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนหลัก ยังสามารถให้ความมั่นใจในด้านความมั่นคงได้