แบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ! ย้อนรอย ทรัมป์วิจารณ์ประธานเฟด l Leaders' Move

แบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ! ย้อนรอย ทรัมป์วิจารณ์ประธานเฟด l Leaders' Move

เป็นประเด็นให้ถูกพูดถึงเมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย พาดพิงถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศ ชวนให้นึกถึงตอนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่พอใจเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จนหวั่นกันว่าจะโดนปลด!

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือน พ.ย.2560 หนึ่งปีหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้เสนอชื่อ “เจอโรม พาวเวลล์” เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ แทนเจเน็ต เยลเลน ที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนก.พ.2561 

“พาวเวลล์ได้พิสูจน์ตนเองให้เห็นว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้กำหนดนโยบายการเงินที่ดี และเขาก็มีความเชื่อมั่นในนโยบายเหล่านี้ จากประวัติการทำงานที่ผ่านมา ทำให้ผมมั่นใจว่า พาวเวลล์มีความรอบรู้และมีความเป็นผู้นำ ซึ่งจะช่วยนำพาเศรษฐกิจของเราให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้าทายต่างๆไปได้ด้วยดี” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว 

ตลาดการเงินมองว่า การเสนอชื่อพาวเวลล์ วัย 64 ปี (ณ ขณะนั้น) ให้ทำหน้าที่ประธานเฟด ถือเป็น “ทางเลือกที่ปลอดภัย” สำหรับคณะทำงานของทรัมป์ เนื่องจากนายพาวเวลล์เป็นเจ้าหน้าที่เฟดสายพิราบสังกัดพรรครีพับลิกัน ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางของเยลเลน ประธานเฟดคนก่อนหน้า และในขณะเดียวกันพาวเวลล์ก็ “เปิดกว้าง” สำหรับมาตรการลดกฎระเบียบในภาคการเงินซึ่งคณะทำงานทรัมป์พยายามผลักดันมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม คนที่ทรัมป์เสนอชื่อมากับมือก็อาจไม่ได้ดังใจ วันที่ 24 ธ.ค. 2561 ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดตลาด ร่วงลงกว่า 600 จุด ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวร่วงลง 2.71%

ทรัมป์ ทวีตตำหนิเฟดรอบใหม่ (หลังจากตำหนิมาหลายรอบ) ว่า เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดหุ้น และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งยังระบุว่า นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดในอเมริกา

นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังกล่าวหา พาวเวลล์ ประธานเฟดว่า ไม่มีความเข้าใจในตลาดหุ้น และเป็นผู้ทำให้ตลาดหุ้นเสียหายด้วยการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยผิดๆ

ขณะนั้นมีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังหารือเรื่องการสั่งปลดประธานเฟด หลังจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเฟดเพิ่งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4  ของปี 2561 

ข่าวการปลดพาวเวลล์ สร้างความกังวลให้กับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ ผู้บริหารบริษัทในวอลสตรีท และนักลงทุน เนื่องจากเกรงว่าผู้นำฝ่ายบริหารกำลังแทรกแซงการทำงานของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

เวลาล่วงเลยไปจนถึง เดือน ก.ย.2562 ทรัมป์กล่าวว่า ตำแหน่งประธานเฟดของพาวเวลล์ ยังคงปลอดภัย แม้ว่าตนไม่ค่อยแฮปปี้นักหลังจากที่เฟดเพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวันพฤหัสบดี 19 ก.ย.

ถึงวันนี้พาวเวลล์ยังคงดำรงตำแหน่งประธานเฟด ขณะที่ทรัมป์พ้นวาระประธานาธิบดีแต่ยังมีแววว่าจะได้กลับมาเป็นคู่ชิงกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน อีกครั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.นี้ ดูเหมือนว่าความแค้นยังอยู่ เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศว่า จะไม่แต่งตั้งให้พาวเวลล์เป็นประธานเฟดอีก เพราะลดดอกเบี้ยเอื้อประโยชน์ให้พรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่จะมาถึง  

นับตั้งแต่ทรัมป์เสนอให้พาวเวลล์เป็นประธานเฟดในปี 2560 เขาใช้วาจาโจมตีพาวเวลล์หลายครั้ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่งตั้งให้พาวเวลล์เป็นประธานเฟดอีกสมัยในปี 2564 ตามธรรมเนียมแล้วประธานเฟดจะไม่ถูกไล่ออกเว้นแต่จะลาออกไปเอง ส่วนประธานาธิบดีมีหน้าที่เสนอชื่อประธานเฟดให้คองเกรสอนุมัติทุกๆ สี่ปี 

เรื่องราวระหว่างทรัมป์กับพาวเวลล์ เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างฝ่ายบริหารกับธนาคารกลางที่ต่างฝ่ายต่างมีเครื่องมือในการทำงานของตน รัฐบาลดูแลงบประมาณ ธนาคารกลางดูแลดอกเบี้ย มีเครื่องมือของตนเองแล้วก็ควรทำงานของตนไปอย่างอิสระ ไม่แทรกแซงกันและกัน 

หลักคิดความเป็นอิสระของธนาคารกลางหรือที่บ้านเราเรียกว่าแบงก์ชาติ ได้ต้นแบบมาจากสหรัฐ แต่ผู้นำประเทศทั้งหลายมักอยากให้ธนาคารกลางทำตามใจตนเองเสมอ ไม่พอใจก็วิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ กระทบกระทั่งกันบ้างถือเป็นเรื่องลิ้นกับฟัน!

ที่แตกต่างคือ กรณีของแพทองธาร เธอพูดในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาล